ส่งออกแผ่ว “เอกชน” ขอสิทธิประโยชน์ 11 เดือน 2562 หด 4.14% เตรียมแผนรับมือสหรัฐตัดจีเอสพี

วันที่ 23 มกราคม 2563 นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 11 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์รวมอยู่ที่ 65,642.88 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 75.98% ของมูลค่าที่ได้สิทธิทั้งหมด ลดลง 4.14% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 60,790.30 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 77.26% ของมูลค่าการส่งออกรวมในรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิมูลค่า 78,679.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.52% ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการส่งออกภาพรวมที่ลดลง และยังมีสาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากสงครามการค้า และการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้การส่งออกลดลง จึงมีการใช้สิทธิลดลงตาม และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP มูลค่า 4,852.57 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 62.87% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิมูลค่า 7,718.52 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.44%

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ไทยมี FTA รวม 13 ฉบับ แต่มีการใช้สิทธิ FTA ส่งออก 11 ฉบับ เนื่องจากไม่คิดรวมความตกลงอาเซียน-ฮ่องกงที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2562 และไทย-นิวซีแลนด์ ที่ใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออก (Self-declaration) และหากติดตามเป็นราย FTA พบว่า ตลาดที่ไทยใช้สิทธิส่งออกสูงสุด 5 อันดับ อาเซียนยังคงเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย ส่วน FTA ที่มีอัตราการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับ คือ ไทย-ชิลี ใช้ 100% ไทย-เปรู 93.28% อาเซียน-จีน 90.94% ไทย-ญี่ปุ่น 88.88% และอาเซียน-เกาหลี 82.86% และ FTA ที่ใช้สิทธิลดลง คือ อาเซียน ลด 8.27% ออสเตรเลีย ลด 15.00% ชิลี ลด 29.19% อินเดีย ลด 3.33% ญี่ปุ่น ลด 0.81% และเกาหลี ลด 6.12%
สำหรับรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด น้ำตาลจากอ้อย และผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง
ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใน GSP ที่ปัจจุบันมีจำนวน 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ พบว่า ตลาดที่ไทยส่งออกโดยใช้สิทธิ GSP มากที่สุด ยังคงเป็นสหรัฐฯ มีมูลค่า 4,413.48 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิ 67.03% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ ซึ่งมีมูลค่า 6,583.97 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11% รองลงมา คือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิ 283.27 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการใช้สิทธิ 35.49% เพิ่มขึ้น 2.27% รัสเซียและเครือรัฐ มีมูลค่าการใช้สิทธิ 129.30 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการใช้สิทธิ 80.77% ลดลง 15.14% และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิ 25.39 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิ 100% เพิ่มขึ้น 35.99%
โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยางอื่นๆ อาหารปรุงแต่งอื่นๆ น้ำผลไม้ และเลนส์แว่นตา
นายกีรติ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่ประเทศไทยจะถูกตัดสิทธิ GSP หรือไม่นั้น ยังบอกไม่ได้ตอนนี้ ซึ่งต้องรอการพิจารณาจากสหรัฐฯก่อน และตัดสิทธิทันทีหรือเปิดให้ประเทศไทยชี้แจงเพิ่มเติมหรือไม่ก็ต้องติดตาม แต่กรมฯมองว่าหากกรณีไทยถูกตัดสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ กรมฯได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไว้เบื้องต้น 4 แนวทาง เช่น การประสานสถาบันการเงินในการช่วยลดค่าธรรมเนียม หรือบริการเพื่อเป็นการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการในการค้า การส่งออก การลดต้นทุนนำเข้า-ส่งออก ให้บริษัทรายใหญ่เป็นพี่เลี้ยงในการช่วยเหลือบริษัทรายเล็กในการขยายตลาด การส่งเสริมงานวิจัย นวัตกรรมใหม่ โดยเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ แต่ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกต้องดีค่าเงินบาทไม่แข็งค่าเกินไปที่จะกระทบต่อผู้ส่งออกไทย ส่วนสินค้าที่ประเทศไทยถูกตัดสิทธิ์ไปแล้ว จำนวน 573 รายการ จากรายการสินค้ากว่า 3,000 รายการ แต่ทั้งนี้ ประเทศไทยใช้สิทธิ์ไม่ได้ทุกรายการ ดังนั้น ก็ต้องดูว่าหากตัดสิทธิ์เพิ่มจะกระทบมากน้อยแค่ไหน