‘ทวี’ อัด “รัฐรวมศูนย์” ใช้เงินนำหน้า ปัญญาตามหลัง แนะกระจายอำนาจแก้วิกฤตหมอกควัน

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ถึงกรณีปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า การแก้ปัญหา วิกฤติ ‘หมอกควัน’ มุมมองที่แตกต่างไปจากรัฐบาล

อ่านโพสต์ ท่านอาจารย์ สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอมุมมองต่อสถานการณ์หมอกควันและการเผาในที่โล่ง ที่เกิดจากประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษาวิจัย

“แก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน ภาคเหนือ” ที่ท่านเป็นหัวหน้าโครงการการวิจัย ‘โครงการติดตามประเมินผลการดำเนินกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายเฝ้าระวังและป้องกันการเผาในที่โล่งและลดหมอกควัน’ ถือเป็นมุมมองทางวิชาการที่มีงานวิจัยสนับสนุน ซึ่งอาจมีความแตกต่างจากความเข้าใจผู้คนทั่วไปส่วนใหญ่ และแตกต่างจากนโยบายรัฐบาลที่ดำเนินการแก้ปัญหาหมอกควันในปัจจุบัน อาจารย์สามชายฯได้วิเคราะห์จากความเป็นจริงและเสนอแนะไว้ 6 ข้อที่ประเด็นที่ดีทุกข้อ แต่จะขอยกตัวอย่างและวิพากษ์ ในข้อที่ 2 คือ

“..งบประมาณที่ใช้สำหรับการแก้ปัญหาหมอกควัน ส่งผ่านไปยังจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด จากนั้นจังหวัดจัดสรรงบประมาณลงไปยังหน่วยงานในระดับตำบลหรือเขตพื้นที่ เช่น พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ สำนักงานป่าไม้ การพิจารณางบประมาณจะพิจารณาจากพื้นที่ที่เกิดไฟ หรือจุดความร้อนซึ่งปรากฏบนภาพถ่ายดาวเทียม ยิ่งมีจุดความร้อน (hotspot) มากก็ยิ่งได้รับงบประมาณมาก ดังนั้น วิธีการที่จะให้ได้งบประมาณลงไปมากก็คือการทำให้เกิดจุดความร้อน การละเลยไม่สนใจเพื่อปล่อยให้เกิดไฟ เรื่องนี้แก้ไขได้โดยการสนับสนุนงบประมาณป้องกันในลักษณะถ้วนหน้าไปยังองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่โดยตรง หรืออย่างน้อยก็ผ่านไปยัง อบต. เทศบาลที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า..”

ส่วนตัวมีความเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งการแก้ปัญหาและการบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ผ่านมามักจะตั้งอยู่ในหลักการ “รัฐรวมศูนย์” ที่ใช้ “เงินนำหน้า ความรู้และปัญญาตามหลัง” ดังนั้น จะพบได้จากการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาส่วนใหญ่รัฐบาลจะสั่งการจากบนลงล่าง มักจะไม่ให้ความสำคัญความรู้ที่เกิดจากการศึกษาวิจัย และผู้มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเพื่อนำไปใช้ให้เกิดผลต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งที่ผ่านมา 5 ปี รัฐบาลจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาสูงเกือบ 100,000 ล้านบาท (ในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 28,082.2 ล้านบาท) ก็ตาม

เงินแม้มีความสำคัญแต่ไม่ควรใช้เงินเป็นสิ่งเริ่มต้นในการแก้ปัญหาและการพัฒนาควรเริ่มต้นที่ ‘ความรู้และปัญญา’ ก่อน และที่สำคัญต้องเชื่อมั่นในประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย คือต้องการกระจายอำนาจกระจายงบประมาณไปสู่องค์กรชุมชนและท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาและพัฒนา ที่เรียกว่า “สันติสุข หรือชัยชนะอยู่ที่หมู่บ้าน” นั้นเอง

ในหลักการ “นักวิชาการ” คือบุคคลซึ่งทำการค้นคว้าหาข้อมูล วิจัยวิเคราะห์ประเด็นปัญหาต่าง ๆ การแสดงความคิดเห็น การเสนอทางออกในฐานะนักวิชาการ จึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์และหลายฝ่ายควรรับฟัง