คลังเผยกฎหมายลูกลดภาษีที่ดิน 90% และ 50% ประกาศในราชกิจจาแล้ว

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า พระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประกาศในราชกิจจานุเษกษา เมื่อวันที่ 20 มกราคม เป็นหนึ่งในกฎหมายลูกของพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะนี้กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยออกกฎหมายลูกภาษีที่ดินเกือบ 20 ฉบับไว้เกือบครบแล้ว เหลือ 2 ฉบับคาดว่าจะออกตามมาเร็วนี้

นายลวรณ กล่าว ทั้งนี้พระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากฐานภาษีตามมาตรา 37 แห่งพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563  โดยพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภท  เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม เหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพแห่งท้องที่ ดังนี้ การลดภาษีในอัตรา 50% ให้แก่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ตั้งของโรงผลิตไฟฟ้า เขื่อน และที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับการผลิตไฟฟ้า และที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นห้องชุด ที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 1 มกราคม  ทั้งนี้ เฉพาะทรัพย์สินที่บุคคลดังกล่าวได้มาโดยทางมรดกก่อนวันที่ 13 มีนาคม 2562

นายลวรณ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ลดภาษีในอัตรา 90% ให้แก่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภท เช่น ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอสังหาริมทรัพย์รอการขาย ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่ใช้ในกิจการของสถาบันอุดมศึกษา เป็นต้น

“การลดภาษี 90% ครอบคลุมกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอสังหาริมทรัพย์รอการขายของสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น สถาบันการเงินประชาชน บริษัท บริหารสินทรัพย์ เป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี นับจากวันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของหน่วยงาน, ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นโครงการจัดสรรเพื่ออยู่อาศัย หรืออุตสาหกรรม เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดิน, ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นอาคารชุด เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันได้รับอนุญาตก่อสร้าง”นายลวรณ กล่าว

นอกกจากนี้ลดภาษี 90% ให้กับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม เป็นเวลาไม่ เกิน 3 ปี นับแต่วันได้รับอนุญาตจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ,ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในกิจการโรงเรียนเอกชน สถาบันอุดมศึกษา, ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นสถานบริการประชาชนทั่วไป เช่น ลานเล่นกีฬา สวนสัตว์ สวนสนุกที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย