ส.ว.เดินหน้าต่อ โหวตงบ’63 ‘สมชาย’ ชี้ เสียบบัตรแทนกัน ต่างกับตอน พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน

ส.ว.เต้น หวั่นกรณี ส.ส.ภูมิใจไทยเสียบบัตรแทนกัน ทำงบ’63 โมฆะทั้งฉบับ ด้าน ‘พรเพชร’ ลั่น พิจารณาไปตามหน้าที่ นี่ไม่ใช่ความผิดของเรา

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่รัฐสภา เกียกกาย ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ต่อเป็นวันที่สอง ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ได้ลุกขึ้นหารือว่า กรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาแต่มีชื่อลงมติ ซึ่งเรื่องนี้ผลเกี่ยวข้องกับวุฒิสภาโดยตรง เนื่องจากร่างกฎหมายได้ผ่านกระบวนการสภาแล้วจึงได้ส่งมายังวุฒิสภา การที่วุฒิสภาจะพิจารณาต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงอยากหารือว่าวุฒิสภาจะดำเนินการอย่างไร จะกลายเป็นการลงมติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นลงมติไม่ชอบทั้งวุฒิสภาหรือไม่ ดังนั้น วุฒิสภาจะใช้วิธีการอย่างใด จะอภิปรายต่อไป แต่อย่าเพิ่งลงมติ หรือเราจะคืนเรื่องให้สภาแล้วค่อยลงมติใหม่ภายใน 20 วัน ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

ด้านนายพรเพชรกล่าวว่า เรื่องนี้ผู้รับผิดชอบโดยตรงคือสภา ซึ่งเข้าใจว่าสภากำลังดำเนินการอยู่ ร่างกฎหมายนี้ส่งมาอย่างเป็นทางการยังวุฒิสภาก็ต้องถือว่าร่างที่ส่งมาถูกต้อง อีกทั้งวุฒิสภาคงไม่มีอำนาจวินิจฉัย หรือดำเนินการว่าร่างกฎหมายนี้ถูกหรือผิด แต่ถ้าระหว่างนี้สภาบอกว่าขอให้รอไว้ก่อน เราก็ต้องรอ เราต้องดำเนินการตามกฎหมายและข้อบังคับ คือพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน ส่วนร่างกฎหมายจะเป็นโมฆะหรือไม่ ไม่ใช่ความผิดของวุฒิภา เพราะวุฒิสภาไม่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยหรือไปก้าวก่าย วุฒิสภาก็ต้องพิจาณาไปตามที่สภายืนยันมาว่าถูกต้อง

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.กล่าวว่า กรณีเสียบบัตรแทนกันระหว่างนายฉลอง กับกรณีของนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนั้น มีความแตกต่างกัน โดยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ วุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน จะส่งคืนให้สภาไม่ได้ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการตื่นตระหนก วุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ส่วนถ้าวุฒิสภาเห็นว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญต้องเข้าชื่อกันยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตนเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมองประโยชน์สาธารณะ เพราะกรณีของนายฉลองไม่ชัดเท่ากับกรณีของนายนริศร แม้นายฉลองจะยอมรับว่าไม่อยู่ในสภา แต่ต้องตรวจสอบว่าใครกดบัตรแทนให้ อย่างไรก็ตาม หากศาลวินิจฉัยว่า กฎหมายนี้ใช้ไม่ได้จริง ก็มี พ.ร.บ.งบประมาณ ปี’62 เพื่อเดินหน้าได้เหมือนกัน