‘นักวิชาการ’ หวั่นปัญหา​หนี้ครัวเรือน​ กลายเป็นปัญหา​การเมือง​ในอนาคต

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง เปิดเผยกรณีภาวะหนี้ครัวเรือนสูงสุดในรอบ 3 ปี ว่า หนี้ครัวเรือนที่ปรับขึ้นเป็น 80% ถือว่าสูงสุดในอาเซียน แต่ในเอเชียไทยต่ำกว่าประเทศเกาหลีใต้ โดยผลกระทบแรกคือ ทำให้กำลังซื้อลดลง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนคือ อัตราการบริโภคของภาคเอกชนจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ทั้งนี้ จากภาวะหนี้ครัวเรือนดังกล่่าว เกิดขึ้นในช่วงที่โครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทยที่ประชากรเพียง 1% ครอบครองทรัพย์สิน เยอะกว่าผลิตภัณฑ์​มวลรวม​ของประเทศ (จีดีพี)​ อยู่ที่ 60% ส่วนประชากรอีกกว่า 90% เป็นผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มสร้างหนี้ครัวเรือน จึงทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง​ และจะนำมาสู่ปัญหาสังคม เนื่องจากความแตกต่างระหว่างกลุ่มผู้มีรายได้มากกับผู้มีรายได้​น้อย และจากปัญหา​นี้ จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ​ต่ำ ในขณะที่โลกกำลังพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลง ที่ต้องพึ่งพาระบบเทคโนโลยีดิจิทัล​เพิ่มมากขึ้น​ อีกทั้ง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพการศึกษาของไทยอยู่ในระดับต่ำ หรือยังไม่ดีพอ ซึ่งจะนำไปสู่ประเด็นปัญหาต่อไป คือความพยายามของสตาร์ต​อัพ หรือเอสเอ็มอี​ ในการปลดตัวเองออกจากความยากจนนั้น

“ปัจจุบันประเทศไทยยังเป็​นระบบผูกขาด จึงทำให้กลุ่มผู้มีรายได้​น้อยนี้ นอกจากจะไม่มีความสามารถในการแข่งขัน เพราะคุณภาพการศึกษาย่ำแย่แล้ว ซึ่งจะออกมาในลักษณะไม่อยากหางานทำและตกงานด้วย อย่างไรก็ตาม​ ปัญหาหนี้ครัวเรือน​นี้ จะเป็นปัญหาที่ลามปาม หากไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้จากปัญหาสังคมกลายเป็นปัญหาการเมืองในอนาคต” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวถึง​กรณี​บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) มีความสนใจที่จะซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย ว่า ทราบว่ามีกฎหมายการแข่งขันอยู่ ซึ่งต้องศึกษารายละเอียดว่า หากดำเนินการดังกล่าวแล้วจะขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวไม่สามารถตอบได้