“พิธา” อยากเห็น “มท.-ทส.” สร้างกลไกทำงานร่วมภาคปชช. ขับเคลื่อนแก้ปัญหาที่ดินทำกิน

เมื่อวันที่ 19 มกราคม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก Pita Limjaroenrat กรณี พรบ.อุทยานฯ ระบุว่า

240 วันจะทันไหม กับ พรบ. อุทยาน

1. คณะ กมธ.ที่ดินฯ นัดประชุมที่รัฐสภา เกี่ยวกับปัญหาที่ดิน ในเขตอุทยาน อนุรักษ์ และเขตห้ามล่า ตามเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน 15 เรื่องจากเชียงราย เกาะช้าง เกาะพะงัน หลายจังหวัดในภาคอีสาน เหนือ และใต้ โดยมี กรมอุทยาน สำนักบริหารนโยบายนายกรัฐมนตรี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ พี่น้องชาว พี-มูฟ เป็นผู้มาชี้แจ้ง

2. ปัจจุบันมี ชุมชน 4,000 ชุมชน อาศัยอยู่ในพื้นที่ 4.7 ล้านไร่ มีผลกระทบกับ ประชาชน 2 ล้านคนทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบจาก พรบ. อุทยาน และ พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้ทำการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในป่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ภายใน 240 วันตั้งแต่ 25 พ.ย ปีที่แล้ว ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังนี้ 1) สำรวจไม่ทัน 2) งบไม่พอ 3) อนุบัญญัติไม่ชัด  และ 4) ประชาชนไม่เห็นด้วยและขอทางเลือกทางนโยบาย

3. กรมอุทยานชี้แจ้งว่า สำหรับข้อ 1 จาก 4.7 ล้านไร่ มีการสำรวจล่วงหน้าไว้แล้ว 6 แสนไร่ ส่วนอีก 4 ล้านไร่ที่เหลือ สำรวจไป 3 แสนไร่ ซึ่งก็น่าเป็นห่วงทั้ง 2 กระบวนการกับเวลาที่เหลือ ข้อ 2 ถ้างบประมาณกระทรวงทรัพย์ ไม่พอก็อาจให้หน่วยงานเสนอขอใช้เงินงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินการดังกล่าว แต่ต้องทำให้โปร่งใส และไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้งบกลางเป็นงบอเนกประสงค์ จนเคยชิน

4. อยากเห็นกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างกลไกการทำงานร่วมกันกับภาคประชาชนภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม รับฟังประชาชนในแต่ละภาค แต่ละพื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างกัน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้ครอบคลุมที่ดินประเภทที่ดิน เพื่อให้เกิดนโยบายทางเลือก ที่ตอบโจทย์ประชาชนอย่างยั่งยืนตามสิทธิชุมชน โดยสิทธิในการใช้พื้นที่ตาม พรบ. นี้อยู่ได้ในฐานะผู้เช่า 20 ปี

5. ผม และ กมธ. จะดำเนินการตามเรื่องให้ประชาชนเมื่อวันหมดเขตการสำรวจ 23 ก.ค ที่จะมาถึงนี้ ว่าในกรณี ที่สำรวจไม่เสร็จ งบไม่มี รายละเอียดยังไม่ชัด หรือ ถ้าประชาชนปฎิเสธการสำรวจ (เพราะไม่เห็นด้วยกับการไม่มีส่วนรวมในการออกแบบนโยบาย ไม่สอดคล้องกับ วัฒนธรรม ประเพณี หรือ ความไม่มั่นคงในการได้รับสิทธิ์เข้าใช้พื้นที่เพียง 20 ปี) รัฐบาลจะมีทางออกอย่างไรให้ประชาชนได้บ้าง