‘จตุพร’ ชี้ ยุบ ‘อนาคตใหม่’ แนวรบไม่เปลี่ยนแปลง เตือน กก.บห.อนค. ลาออกรักษา 10 ที่นั่งส.ส.

‘จตุพร’ ชี้ ยุบ ‘อนาคตใหม่’ แนวรบไม่เปลี่ยนแปลง เตือน กก.บห.อนค. ลาออกรักษา 10 ที่นั่งส.ส. จี้ อภิปรายไม่ไว้วางใจต้องชี้ให้ปชช.เห็นว่าสุดท้ายแล้วไว้ใจไม่ได้

เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ร้านกาแฟ พีซคอฟฟี่แอนด์ ไลบรารี่ อิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 5 มีการจัด รายการลมหายใจ พีซทีวี เวทีทัศน์ ที่ออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีซทีวี โดยมีแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มาพบปะพูดคุย และทำกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำทุกสัปดาห์

โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวถึงการยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ว่า ที่ผ่านมาตนพูดมาหลายครั้งและเห็นความเป็นไปคือการเตรียมความพร้อมรับมือของพรรคอนาคตใหม่ เพราะประวัติศาสตร์ของประเทศไทยนั้นมีมาแล้วอย่างน้อย 4 พรรคการเมือง ซึ่งมีการออกแบบแตกต่างกันไป โดยเฉพาะตอนยุบพรรคไทยรักไทย (ทรท.) คืออยู่ในระหว่างรัฐบาลที่มีการรัฐประหาร ซึ่งหลายคนคิดว่าพรรคการเมืองที่มีสมาชิกกว่า 14 ล้านคน จะไม่มีใครกล้ายุบพรรค เพราะในวันเดียวกันนั้นมีการอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เช่นเดียวกัน ในที่สุดพรรคปชป.ไม่ถูกยุบพรรค แต่พรรคทรท.ถูกยุบพรรค ต่อมาก็เป็นพรรคพลังประชาชนและถูกยุบพรรคอีกครั้ง ดังนั้นโทษการยุบพรรคชัดเจนว่า หาก ส.ส.เป็นกรรมการบริการพรรคก็พ้นสภาพโดยตำแหน่งและถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี ดังนั้น การอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีการยุบพรรคอนค.หรือไม่ในอีก 2 วันข้างหน้านั้น จากการที่ตนติดตามการแถลงข่าวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนค. และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนค. ก็มีการเตรียมความพร้อม เพราะชะตากรรมของการถูกยุบพรรคนั้น จะต้องมีพรรคสำรองไว้ และหากถูกยุบพรรคจริงนั้นกรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ดังนั้นต้องดูว่า กรรมการบริหารพรรคอนค.ที่เป็น ส.ส.จะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร หากวัดดวงตัดสินใจไม่ลาออกก็ต้องยอมรับว่าจะต้องเสียส.ส.ไปทั้งหมด 11 ที่นั่ง จากจำนวน 76 เหลือ 65 ที่นั่ง แต่หากตัดสินใจเด็ดขาดคือ การน้อมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และวางแผนกันอย่างมีสติ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ตัดสินใจลาออกทั้ง 11 คน เพื่อให้ลำดับถัดไปได้ขึ้นมาเป็นส.ส. ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเวลาที่จะต้องตั้งสติเพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุดของจำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรดังนั้นเชื่อว่าอยู่ระหว่างการชั่งใจ เนื่องจากมีแบบอย่างและบทเรียนให้ได้เห็นมาแล้ว

นายจตุพร กล่าวถึงการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านว่า ต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าอภิปรายเพื่ออะไร เพราะ หากการอภิปรายเต็มไปด้วย น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง ไม่กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ก็ไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แม้เสียงในสภาฝ่ายรัฐบาลจะชนะฝ่ายการ แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นคือการสื่อมายังประชาชน และหากผลของการอภิปรายที่คนทั้งประเทศฟังแล้วว่า รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้ แม้จะเป็นเสียงข้างมากก็ตามรัฐบาลก็จะอยู่ไม่ได้ แต่หากการอภิปรายเต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัยก็ยิ่งทำให้ลดความเชื่อมั่นลงไปตามลำดับดังนั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นคือการไม่ไว้วางใจไม่ใช่เวทีของการสรรเสริญเยินยอหรือเป็นเวทีเพื่อการแนะนำ การอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายอาจจะแนะนำรัฐบาลได้แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะต้องบรรยายความผิดในสภาให้ครบถ้วน เพราะการอภิปรายของส.ส.ในสภาจะได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองตราบใดที่ไม่ไปพาดพิงบุคคลที่ 3 ก็จะฟ้องร้องกันไม่ได้ ทั้งนี้ การอภิปรายจะต้องชี้ให้ประชาชนที่ฟังการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ว่าที่สุดแล้วไว้วางใจไม่ได้จริงๆ หมือนอย่างที่ตนเคยบอกว่าไม่ต้องใช้คนจำนวนมาก แต่ให้ใช้ความจริงเป็นจำนวนมาก ซึ่งตนในฐานะที่เคยเป็นผู้ทำหน้าที่เป็น ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลนั้นรู้ว่า ควรจะต้องทำข้อมูล ที่เป็นข้อมูลสามารถสื่อสารกับประชาชน ดังนั้นสภาวการณ์ที่ตนเคยบอกว่าแนวรบไม่เคยเปลี่ยนแปลงว่า ความยากจนยังมีอยู่