“ไพบูลย์”มั่น 99.99%“ธัมมชโย”ยังอยู่ในวัดพระธรรมกาย เสนอ กม.จัดการวัด-สร้างหลักธรรมาภิบาล

“ไพบูลย์” เสนอ 2 กม.ปฏิรูปวงการสงฆ์ แนะ ตั้งศาลพระวินิจฉัยพระธรรมวินัย – กฎหมายจัดการทรัพย์สิน ชง พระต้องเปิดเผย และเงินบริจาคต้องเป็นของวัด มั่นใจ 3 เหตุผล “ธัมมชโย” ยังอยู่ในธรรมกาย วอน กระบวนการยุติธรรมให้ประกัน

(1 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้อง พิทักษ์ กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงว่า ตนได้มีหนังสือกราบทูลถึงสมเด็จพระสังฆราช และส่งถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาพุทธบริษัทแห่งชาติ เพื่อตีความพระธรรมวินัยไม่ให้มีผู้นำไปบิดเบือน ดังเช่นศาลรัฐธรรมนูญที่ตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งเสริมให้กิจการพระพุทธศาสนาอยู่ในหลักการแห่งพระธรรมวินัย รวมถึง ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินวัดและพระภิกษุ เพื่อให้การจัดการทรัพย์สินของวัด และทรัพย์สินของพระภิกษุเป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับหลักพระธรรมวินัย โดยเน้นหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ เพื่อการมีส่วนร่วมของพุทธบริษัท และให้วัดที่เข้าเกณฑ์จะต้องมีระบบการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัดที่เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี มีผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตรับรอง และส่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เปิดเผยให้พุทธศาสนิกชนทราบ และทรัพย์สินของวัดให้หมายความรวมถึงทรัพย์สินของมูลนิธิหรือองค์การที่จัดตั้งขึ้นโดยวัด หรือเกี่ยวเนื่องกับวัดด้วย ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“ส่วนทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ ให้ถือเป็นทรัพย์สินของวัดที่พระภิกษุนั้นสังกัดอยู่ และให้พระภิกษุใช้จ่ายทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามความจำเป็น เพื่อการดำรงสมณเพศเพื่อประโยชน์แก่วัดและศาสนกิจเท่านั้น เมื่อพระภิกษุพ้นจากความเป็นพระภิกษุหรือมรณภาพ ให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นทรัพย์สินของวัดที่พระภิกษุนั้นสังกัดอยู่ และพระภิกษุจะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินที่อยู่ในการดูแลของตนให้คณะกรรมการจัดการทรัพย์สินของวัดที่ตนสังกัดอยู่ทราบทุกปี” นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ ยังแสดงความมั่นใจ 99.99 เปอร์เซ็นต์ ว่าพระธัมมชโย ยังอยู่ในวัดพระธรรมกาย ด้วยเหตุผล 3 ข้อ คือ 1.บรรดาผู้สนับสนุน พระชั้นผู้ใหญ่ และ 5 เสือธรรมกาย ซึ่งเป็นพระที่ใกล้ชิดกับพระธัมมชโย ยังอยู่ในวัดพระธรรมกาย จึงไม่มีทางที่พระธัมมชโย จะออกไปอยู่ข้างนอกตามลำพัง 2.มีการตรวจจับสัญญาณโทรศัพท์ พบว่ามีบุคคลใกล้ชิดพระธัมมชโย ได้ติดต่อไปเมื่อวันที่ 18 ก.พ. ช่วงเวลา 04.00 น. ซึ่งหลังจากออกคำสั่งมาตรา 44 เมื่อวันที่ 16 ก.พ. แสดงให้เห็นว่าพระธัมมชโย ยังอยู่ในวัด และไม่สามารถออกไปไหนได้

และ 3.เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ลูกศิษย์ของพระธัมมชโย กว่า 2,000 คน ได้บุกเข้าไปเพิ่มกำลังในวัด เมื่อเข้าไปได้แล้วก็ประกาศไม่ให้เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าไปตรวจค้นในวัดอีก แสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการให้ตรวจพบจนเจอพระธัมมชโย ดังนั้น หากต้องการให้เรื่องนี้ยุติลง ตนเสนอให้พระธัมมชโย ออกมามอบตัว และให้สังคมช่วยกันเรียกร้องไปยังกระบวนการยุติธรรม ว่าหากพระธัมมชโย มอบตัว ควรได้สิทธิประกันตัวต่อสู้คดีจะได้ไม่ถูกจับสึกจากความเป็นพระก่อนที่คดีจะมีการตัดสิน ซึ่งเชื่อว่าหากดำเนินการตามนี้เรื่องทุกอย่างจะจบลง