คดีจำนำข้าว “อคส.” ไม่คืบ เหตุนิติกรน้อยจึงล่าช้า โดนเอกชนฟ้องกลับ 174 คดี

ลากยาว 1 ปี 246 คดีจำนำข้าว อคส. 3 แสนล้านบาท ไม่คืบ รักษาการ ผอ.อคส.ยอมรับล่าช้า เหตุจำนวนนิติกร อคส.น้อย อีกด้านคู่สัญญาเซอร์เวเยอร์-คลังกลาง ฟ้องกลับ อคส. 174 คดี มูลค่า 5,000 ล้านบาท ก้มหน้าจ่ายเงิน 3,400 ล้านบาท

รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการฟ้องร้องค่าเสียหายกับคู่สัญญาภายใต้โครงการรับจำนำข้าวในส่วนที่ อคส.ดูแล ซึ่งมีอยู่จำนวน 246 คดี มูลค่าความเสียหาย 300,000 ล้านบาท ซึ่ง อคส.ดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายกับคู่สัญญาที่ผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2561 แบ่งเป็นเจ้าของคลังสินค้า 167 คดี และผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) 79 คดี โดยส่วนใหญ่เป็นการดำเนินคดีทางปกครอง ซึ่งขณะนี้หลายคดีอยู่ในชั้นศาล และอยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง

“ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการดำเนินการคดีความในโครงการรับจำนำข้าวเป็นปัญหาที่เกิดมานาน แม้สามารถดำเนินการฟ้องร้องกันไปแล้ว แต่ทางคดียังมีความล่าช้าอยู่มากในหลายขั้นตอน สาเหตุหนึ่งอาจมาจากจำนวนเจ้าหน้าที่นิติกรของ อคส.มีน้อย เพียง 10 คน นอกจากนั้นส่วนใหญ่จะเป็นลูกจ้างไม่มีอำนาจในการตัดสินใจซึ่งส่งผลต่อการทำงานที่ล่าช้า หากจะว่าจ้างเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้ามาเพิ่มก็มีค่าใช้จ่ายเข้ามา อคส.ก็ยังติดปัญหาเรื่องการขาดทุนปีละ 120 ล้านบาท อย่างไรก็ดี อคส.ก็พร้อมที่จะดำเนินการกับคดีค้างภายใต้โครงการรับจำนำข้าวอย่างเต็มที่”

อีกด้านหนึ่ง อคส.ถูกคู่สัญญาดำเนินการฟ้องกลับ จำนวน 174 คดี มูลค่า 5,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่กลุ่มผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวฟ้องในข้อหาผิดสัญญาไม่ดำเนินการจ่ายเงินค่าตรวจสอบคุณภาพข้าว รวมถึงกลุ่มเจ้าของคลังที่ฟ้องร้องเรื่องการค้างชำระค่าฝากเก็บ เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนอยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ย และระหว่างรอการพิจารณาจากผู้บริหาร โดยปี 2561 ได้รับงบประมาณชำระค่าใช้จ่ายที่ค้างไปแล้ว 1,000 บาท ส่วนปี 2562 ได้งบประมาณอีก 3,400 ล้านบาท ชำระให้กับเจ้าของคลัง หรือเจ้าของโรงสีที่ไม่ได้ดำเนินการผิดสัญญา ไม่มีคดีความ ยกเว้นกรณีรายใดที่ติดปัญหาเรื่องคดีความ

“ส่วนการจ่ายค่าเช่าคลังหรือค่าฝากเก็บดูแลข้าว ปี 2563 อคส.จะเชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบจำนวนเงินที่ค้างชำระ หากไม่ติดปัญหา ตัวเลขตรงกัน อคส.ก็จะดำเนินการจ่ายให้ทันที ยกเว้นกรณีที่มีปัญหา เช่น ความเสียหายที่เกิดจากการดูแล เป็นต้น”

สำหรับคดีจากโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรอื่น ยังมีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่รับจำนำตั้งแต่ปี 2551/2552 ปริมาณ 80,000 ตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอศาลพิจารณาเพื่อนำมาจำหน่าย 10,000 ตัน ส่วนอีก 70,000 ตันที่ระบายไปแล้วอยู่ระหว่างส่งมอบ คาดว่าจะส่งมอบครบต้นปี 2563 ส่วนมันสำปะหลังตามโครงการ ตั้งแต่ปี 2551/2552 และปี 2554/2555 ซึ่งกระจายใน 23 คลัง ซึ่งในทางบัญชีสินค้าได้ถูกระบายออกไปหมดแล้ว แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่ายังมีสินค้าค้างในคลัง ทาง อคส.อยู่ระหว่างการติดตามและตรวจสอบ และดำเนินคดี ส่วนข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลที่ประมูลขายแล้ว 90,000 ตัน จากทั้งหมด 283,000 ตัน อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ส่วนจำนวนที่ 193,000 ตัน จะทยอยเปิดระบายหลังจากจัดเกรดใหม่อีกครั้ง

พ.ต.อ.รุ่งโรจน์เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ต้องหาในเรือนจำจังหวัดพิษณุโลกเสียชีวิต 4 ราย จากการระบาดของโรคไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งอาจจะเกิดจากอาหารนักโทษว่า ในฐานะ อคส.ที่เป็นหนึ่งในคู่สัญญาที่จะต้องส่งมอบอาหารสดและเครื่องประกอบอาหารให้กับเรือนจำดังกล่าวในปีงบประมาณ 2563 ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเรียกบริษัทคู่สัญญาจัดส่งสินค้าให้ อคส.เข้ามาชี้แจง และให้ส่งข้อมูลข้อเท็จจริงภายใน 7 วัน นับจากวันที่ 8-15 มกราคม 2563 เพื่อจะเข้าสู่การพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรกับบริษัทคู่สัญญา

ขณะเดียวกันในวันที่ 11 มกราคม 2563 ทาง พ.ต.อ.ภูษิต วิเศษคามินทร์ ที่ปรึกษาประธานบอร์ด อคส. ได้นำคณะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการขนส่งอาหาร ซึ่งทาง อคส.จะรับสินค้ามาจากผู้จำหน่ายใน จ.นครปฐม อีกทอดหนึ่งว่ามีกระบวนการจัดส่งจากแหล่งวัตถุดิบไปจนถึงการจัดเก็บในห้องเย็นเรือนจำเป็นอย่างไร

“เบื้องต้นบริษัทคู่สัญญายืนยันว่าได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง มีการควบคุมทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดซื้อและขนย้ายเข้าเรือนจำพิษณุโลก บริษัทดังกล่าวเป็นคู่สัญญาจัดหาและนำส่งวัตถุดิบเข้าให้ อคส. เพื่อส่งมอบให้เรือนจำพิษณุโลก มาตั้งแต่ปี 2560 ถึงปีงบฯ 2563 ก็ชนะการประมูลจัดหาวัตถุดิบอีก ด้วยวงเงิน 67 ล้านบาท โดยเรือนจำพิษณุโลกถือเป็น 1 ใน 46 เรือนจำที่ อคส.ชนะประมูลจัดหาวัตถุดิบเข้าเรือนจำทั่วประเทศ”