‘สมชัย’โพสต์สำนวน คดียุบพรรคอนาคตใหม่

วันที่ 16 มกราคม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวพรรคการเมืองกู้เงินได้หรือไม่ (ตอนที่ 4) คดีอนาคตใหม่ เอกสารสำนวนคดีพรรคอนาคตใหม่ ที่มีการเผยแพร่ทั่วไป มีจำนวน 49 หน้า แยกเป็น 6 รายการคือ

1) รายงานการสืบสวน ของ คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน คณะที่ 13 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2562 จำนวน 18 หน้า (สรุปจากสำนวนการสืบสวน 221 หน้า)

2) สำนวนการสืบสวนการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง (สำนวนที่ 18) ซึ่งเป็นการให้ความเห็นของ”สำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 1″ ในขั้นตอนต่อเนื่องจาก รายงานการสืบสวน จำนวน 13 หน้า

3) มติกรรมการการเลือกตั้ง ในการประชุมครั้งที่ 105/2562 วันอังคารที่ 24 กันยายน 2562 จำนวน 2 หน้า

4) บันทึกข้อความ เพื่อส่ง สำนวนการสืบสวน ให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2562 จำนวน 1 หน้า

5) บางส่วนของรายงานการประชุม คณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง คณะที่ 6 ครั้งที่ 6/2562 วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2562 จำนวน 12 หน้า

6) มติกรรมการการเลือกตั้ง ในการประชุมครั้งที่ 129/2562 วันพุธที่ 11 ธันวาคม 2562 จำนวน 3 หน้า

1. เอกสารดังกล่าวเป็นของจริงหรือไม่

จากประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง และเห็นสำนวนการสืบสวนและเอกสารภายในของกกต.มาแล้ว เชื่อได้ว่า เอกสารดังกล่าวเป็นของจริง

2. ขั้นตอนการดำเนินการของ กกต. ในคดี เงินกู้ อนค.เป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่

ขั้นตอนที่ถูกต้อง

มีขั้นตอนที่ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง คือ ขั้นการสืบสวน (เอกสารชิ้นที่ 1) ขั้นการให้ความเห็นของสำนักสืบสวน (เอกสารชิ้นที่ 2) มติ กกต. ส่งให้คณะอนุวินิจฉัย (เอกสาร 3) การส่งสำนวนให้คณะอนุวินิจฉัย(เอกสาร 4) ขั้นการให้ความเห็นของคณะอนุกรรมการวินิจฉัย (เอกสารชิ้นที่ 5)

โดยลำดับเวลาของการดำเนินการที่ถูกต้องและเป็นไปตามขั้นตอนคือ นับแต่มีผู้ร้องเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 จนถึงวันที่คณะอนุกรรมการวินิจฉัยมีการประชุม และมีมติเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 โดยกระบวนการทั้งหมดเป็นการพิจารณาความผิดตาม พรป.พรรคการเมือง มาตรา 66 เรื่องการบริจาคเงินเกิน 10 ล้านบาทเท่านั้น

ขั้นตอนที่ผิดปกติ
มีขั้นตอนหนึ่งที่ผิดปกติ คือ การที่นายทะเบียนพรรคการเมือง (นายจรุงวิทย์ ภุมมา) มีคำสั่งที่ 7/2562 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 แต่งตั้งคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และนำเสนอความเห็นต่อ กกต. เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 (รวมระยะเวลาทำงาน 8 วันทำการ)
โดยมีสิ่งที่ผิดปกติ คือ 1)ใช้เวลาเร่งรัด 2) มีการตั้งข้อกล่าวเพิ่มในมาตรา 62 และ 72 และ 3) ไม่มีการให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบข้อกล่าวหาและมีโอกาสได้ชี้แจงทั้งๆที่เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงในระดับยุบพรรคการเมือง*

3. กกต. มีสิทธิในการวินิจฉัยที่แตกต่างจากความเห็นคณะทำงาน หรือ อนุกรรมการวินิจฉัยหรือไม่

เป็นอำนาจของ กกต.ที่จะมีมติแตกต่างจากความเห็นทุกระดับที่เสนอขึ้นมาได้ โดยเป็นเอกสิทธิ์ในการลงมติของแต่ละท่าน

4. มีสิ่งปกติในกระบวนการทำงานเรื่องของ กกต หรือไม่

จากการดูเอกสารและการลำดับเรื่องจะเห็นสิ่งผิดปกติดังนี้

4.1 ผู้ร้อง : ร้องความผิดตามมาตรา 66 (เงินบริจาค)
4.2 คณะกรรมการสืบสวนไต่สวน : สืบสวนประเด็นตามมาตรา 66 มีมติ ยกคำร้อง (เงินกู้ไม่ใช่เงินบริจาค)
4.3 สำนักสืบสวน : มีความเห็นยกคำร้องตาม มาตรา 66
4.4 คณะอนุวินิจฉัย เสียงข้างมาก : มีมติเห็นสมควรดำเนินคดี ตามมาตรา 66 (เงินกู้เป็นเงินบริจาค)
4.5 คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริง : มีมติให้ดำเนินคดี ตามมาตรา 62 (มีรายได้อื่นเกินกว่า รายการที่กม.กำหนด) , มาตรา 66 (บริจาคเงินเกิน 10 ล้าน) และ มาตรา 72 (รับประโยชน์อื่นที่รู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย)
4.6 กกต. เสียงข้างมาก : มีมติให้ดำเนินคดี ในมาตรา 62,66 และ 72 ตามคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง และให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรค

หากในกรณี 4.5 จะมีการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 62 และ 72 โดยถือเป็น “ความปรากฏ” ต่อนายทะเบียนที่สามารถหยิบเอาข้อกฎหมายดังกล่าวมาเป็นฐานความผิด ควรมีการแจ้งข้อกล่าวหาและเปิดโอกาสให้คู่กรณีมาให้ข้อมูล และไปเริ่มกระบวนการในขั้นตอน 4.2 ,4.3 และ 4.4 ใหม่ จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นไปอย่างรอบคอบ เนื่องจากเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงถึงขั้นยุบพรรคและตัดสิทธิการรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต

* หมายเหตุ รายละเอียด ของ กฎหมายและบทลงโทษ

มาตรา 62 รายได้ของพรรคการเมือง
โทษ กรณีไม่มีหลักฐานได้มาซึ่งรายได้ : ปรับไม่เกินห้าหมื่นและอีกวันละพันบาทจนกว่าจะดำเนินการให้ถูกต้อง

มาตรา 66 บุคคลบริจาคให้พรรคเกิน 10 ล้านไม่ได้
โทษผู้บริจาค : จำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินแสนบาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี
โทษพรรคที่รับ : ปรับไม่เกินหนึ่งล้าน เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคห้าปี เงินที่เกินให้ตกเป็นของกองทุน

มาตรา 72 รับประโยชน์ที่รู้หรือควรรู้ว่าเป็นเงินที่มิชอบด้วยกฎหมาย
โทษ : ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค จำคุก ไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกินหกหมื่น เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ตลอดชีวิต) และส่งศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรค