‘ศักดิ์สยาม’ มอบนโยบายทล. จี้เร่งดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ให้เร็วขึ้น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ให้นโยบายในการดำเนินงานแก่กรมทางหลวง (ทล.) โดยให้เตรียมความพร้อมในการจัดทำแผนงบประมาณปี 2563 โดยได้เน้นย้ำให้แล้วเสร็จภายใน 30 กันยายน 2563 ซึ่งขณะนี้กรมได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว เพื่อให้เมื่อมีการโปรดเกล้าพระราชบัญญัติออกมาแล้ว สามารถดำเนินการได้ทันที โดยในปี 2562 ประสิทธิภาพการดำเนินการของกรมทางหลวงติดปัญหาในส่วนของโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี แต่ขณะนี้ได้ปลดล็อกข้อจำกัดดังกล่าวแล้ว ทำให้งบประมาณปี 2563 ที่กำลังจะมานั้น จะต้องเร่งให้ทุกอย่างสามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ หรือต้องเร็วกว่าเท่านั้น และต้องได้ทั้งประสิทธิภาพ ประสิทธิผล รวมถึงมีคุณภาพในการทำงานทุกขั้นตอนด้วย รวมถึงได้ให้แนวโน้มในการจัดทำงบประมาณปี 2564 ที่มีเงื่อนเวลาว่า จะต้องเสนอให้ได้ภายในสัปดาห์นี้ ในระดับของกรมสู่กระทรวง โดยได้มีการบูรณาการร่วมกัน ทั้งส่วนราชการที่อยู่ในกระทรวงคมนาคม ส่วนราชการที่อยู่นอกกระทรวง และภาคประชาชนที่เป็นตัวแทนในระดับต่างๆ วุฒิสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อให้การดำเนินการมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงเปิดให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งยังให้ประเมินแผนปี 2563-2564 ในส่วนของโครงการขนาดใหญ่ โดยสั่งการให้ใช้ตัวแบบในการบริหารการก่อสร้างโครงการมอตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ที่ประสบความสำเร็จในการทำได้เร็วกว่าแผนงานที่กำหนดไว้

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในส่วนของการมอบหมายนโยบายที่เคยไให้ไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ได้มีการมอบหมายนโยบายใหม่เพิ่มเติม โดยมีเรื่องการให้รถยนต์สามารถทำความเร็วได้ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสั่งการให้สำรวจจุดที่สามารถทำความเร็วในระยะที่คาดไว้ได้ แต่ต้องมีความปลอดภัยร่วมด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับการรอผลการทดสอบยางพาราแผ่น หรือ อาร์เอฟบี Rubber Fender Barrier (RFB) ที่จะนำมาประกอบกับแบริเออร์ เพื่อนำมาเป็นหลักประกันด้านความปลอดภัยในการใช้ความเร็วระดับดังกล่าว ซึ่งนโยบายในปี 2563 สำหรับถนนที่จะมีการก่อสร้างใหม่ จะให้ใช้แบริเออร์ยางพาราแผ่นอาร์เอฟบี ทดแทนการก่อสร้างให้เป็นเกาะยาง ยกเว้นในเขตชุมชนที่มีความจำเป็นในการสร้างภูมิทัศน์ให้สวยงามและเหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องปรับเปลี่ยนต่อไป แต่ถนนรอบนอก เพื่อให้เป็นการประหยัดงบประมาณในการก่อสร้าง และการบำรุงรักษา รวมถึงสร้างความปลอดภัยในการกันส่วนที่จะเข้าไปตัดหน้ารถหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น จึงจะไม่มีการรื้อเกาะกลางถนนเดิมที่ทำไว้ แต่จะมีการปรับปรุงให้มีความปลอดภัยมากยิ้งขึ้น รวมถึงให้สำรวจจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ภายใต้พื้นที่ดูแลของของกรมทางหลวง ซึ่งต้องดูเหตุผลของอุบัติเหตุเหล่านั้นว่า เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร อาทิ ไฟถนนส่องสว่างเพียงพอหรือไม่ ทางโค้งได้มาตรฐานหรือไม่ โดยในช่วงปีใหม่ 2563 ที่ผ่านมา ถือว่าหน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคม สามารถบริหารจัดการกับจุดเสี่ยงต่างๆ ได้ดี จึงจะมีการประเมินว่า บทเรียนที่ได้รับจากช่วงเทศกาลปีใหม่ สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้หรือไม่ เพื่อให้ได้ข้อมูลจริง และนำมาแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุต่อไป

“สั่งให้จัดทำงบประมาณก่อสร้างทางทั่วประเทศไว้แล้ว โดยจะไม่มีการก่อสร้างเกาะกลางถนนขึ้นมาใหม่ แต่จะให้ใช้แบบริเออร์ยางพาราที่ได้มาตรฐานการทดลองมากั้นระหว่างเลนถนนแทน เพื่อประหยัดงบประมาณการก่อสร้าง และการดูแลรักษาเกาะกลางในระยะยาว รวมทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ยกเว้นเส้นทางถนนทางหลวงที่จะต้องมีการปรับทัศนียภาพภูมิทัศน์ในชุมชน ซึ่งก็ไม่ได้มีนโยบายที่จะรื้อถอนเกาะกลางถนนที่มีอยู่แล้ว”

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า สำหรับโครงการขนาดใหญ่ ทั้งที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ และโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้ใช้แนวทางบริหารใน 6 มิติ ที่แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย 1.ช่วงออกแบบ 2.ช่วงจัดซื้อจัดจ้าง และ 3.ช่วงก่อสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรืออุปสรรคในการก่อสร้าง และที่สำคัญได้สั่งการให้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการก่อสร้าง อาทิ อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ที่ได้ทดลองใช้สำรวจปัญหาการจราจรในช่วงปีใหม่ โดยจะต้องไม่ใช้ในช่วงปีใหม่อย่างเดียวเท่านั้น แต่จะนำมาใช้ต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันเหตุการณ์ ทั้งยังสามารถช่วย และการใช้เทคโนโลยีในกิจกรรมส่วนอื่นๆ ที่สามารถใช้ได้ เพื่อลดต้นทุนในการจัดการต่างๆ และลดอัตรากำลังข้าราชการ รวมทั้งเข้าไปควบคุมจัดการเทคโนโลยีเหล่านั้นแทน ในส่วนของการวางแผนจุดพักรถในเส้นทางสำคัญต่างๆ โดยขณะนี้กรมทางหลวงมีอำนาจในการอนุญาตให้เชื่อมทาง ซึ่งเมื่อเชื่อเชื่อมแล้ว สถานีให้บริการน้ำมันจะอยู่ในจุดที่ใกล้ทางมากเกินไป ทำให้เมื่อมีประชาชนเข้าใช้บริการจำนวนมาก ก็จะเกิดความแออัด จนทำให้ปริมาณรถยนต์ล้นออกมารบกวนพื้นผิวการจราจร โดยได้ให้นโยบายว่าจะต้องรักษาระยะห่างของปั๊มน้ำมันจากถนน ประมาณ 1 กิโลเมตร รวมถึงจุดพักรถรอบเส้นทางวงแหวนมอเตอร์เวย์สาย 9 เพท่อประกอบเป็นยโยบายรถบรรทุกที่จะเข้ามาในกรุงเทพมหานคร โดยจะสร้างพื้นที่รองรับรถบรรทุกจำนวน 5 หมื่นคัน ซึ่งก็ต่องห่างจากถนนหลักไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตรเช่นเดียวกัน