‘คมนาคม’ ผุดไอเดียห้ามรถวิ่งแช่เลนขวา เตรียมออกกฎหมาย-ตั้งโทษปรับ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนโยบายในการบังคับใช้ความเร็วต่ำกว่า 90 กิโลเมรตรต่อชั่วโมง ในช่องทางเดินรถขวาสุดของถนนทางหลวง 4 ช่องทางทั่วประเทศ ซึ่งความจริงแล้วได้มีกฎหมายบังคับไว้แล้วว่าจะมีความผิดตามกฎหมายจราจรอย่างไรบ้าง ซึ่งในส่วนนี้ทางกระทรวงจะเริ่มนำมาปฎิบัติได้ก่อน โดยจะมีการเสนอร่างกฎกระทรวงต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายในเดือนมกราคม 2563 ซึ่งหาก คจร.เห็นชอบก็จะประกาศออกมาเป็นกฎกระทรวง เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันที หลังจากนั้นกระทรวงจะมาเริ่มดำเนินการบังคับใช้เลนขวาของถนนให้ใช้ความเร็วบนถนนทางหลวง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยสาเหตุที่ทำได้ช้ากว่าที่กำหนดไว้ เนื่องจากมีปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องทั้งในเรื่องของความพร้อมของถนนที่จะให้บังคับใช้ และจุดกลับรถที่จะต้องมีความเหมาะสมกว่านี้ ซึ่งมั่นใจว่านโยบาย 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะต้องสำเร็จได้ในปีนี้อย่างแน่นอน

การวิ่งเลนขวาสุด แล้ววิ่งแช่ด้วยการทำความเร็วน้อยกว่าที่กำหนดไว้ ทำให้เกิดปัญหารถติด จึงเป็นที่มาของการออกกฎหมายดังกล่าว โดยที่ผ่านมามีสถิติที่ชัดเจนว่า รถที่วิ่งด้วยความเร็วต่ำกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และวิ่งด้านเลนขวา จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เพราะส่วนมากรถที่วิ่งเลนขวาจะวิ่งทำความเร็วมากกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนั้น รวมทั้งจะกำหนดบทลงโทษทั้งการต้องจ่ายค่าปรับตามกฎหมาย และตัดแต้มคะแนนการขับขี่ ซึ่งกฎหมายที่จะออกมาบังคับใช้นั้น ก็จะอยู่ภายใต้ ...การจราจรทางบก ..2522”

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า การกำหนดความเร็วสำหรับในแต่ละช่องจราจร จะกำหนดให้ช่องขวาสุดเป็นช่องทางที่ให้รถใช้ความเร็วได้สูงสุด และจะให้รถที่วิ่งช้ากว่าอยู่ในช่องทางอื่นๆ ด้านซ้ายโดยกำหนดความเร็วลดหลั่นลงมาตามลำดับ การกำหนดในลักษณะนี้จะช่วยให้รถที่วิ่งช้ากว่าความเร็วที่กำหนดทำให้รถที่ต้องการวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดตามที่กำหนดไว้ต้องวิ่งช้าลงตาม ซึ่งจะไม่ทำให้การจราจรในภาพรวมของถนนลดความเร็วลงมากนัก โดยวิธีการนี้จะสามารถช่วยลดการเปลี่ยนช่องจราจรที่ไม่จำเป็นลงได้ด้วย ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาการเฉี่ยวชนและการแซงในระยะกระชั้นชิดได้ นอกจากนี้ การกำหนดช่วงความเร็วแต่ละช่องจราจร เป็นช่วงสูงสุดหรือต่ำสุด จะช่วยทำให้ความแตกต่างของความเร็วในแต่ละช่องทางน้อยลง ลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุชนท้ายจากความเร็วที่แตกต่างกัน และการเปลี่ยนช่องจราจร ซึ่งเป็นสัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุที่สูงเป็นลำดับ 2 หรือประมาณ 30% ของภาพรวม จำนวนปีละประมาณ 5000 ครั้ง จากทุกลักษณะ โดยลำดับที่ 1 คือการเสียหลักตกข้างทางประมาณ 45%