“หอการค้าไทย” ลุ้นการเมืองผ่อนคลาย-บาทอ่อน ช่วยเศรษฐกิจไทยปี 2563 โต 2.8%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2653 ว่า ภายใต้สมมติฐานที่สหรัฐเพิ่มมาตรการแซงชั่นกับอิหร่าน โดยที่ไม่มีปฏิบัติการทางทหารร่วมด้วย สหรัฐและจีนมีข้อตกลงร่วมกันและไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราภาษีระหว่างกัน เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.00-30.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ สถานการณ์ภัยแล้งกระทบเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา การเมืองมีเสถียรภาพทาง หากเป็นเช่นนี้ เชื่อว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ GDP ของไทยในปี 2563 ขยายตัวอยู่ที่ 2.8% ส่วนการส่งออกขยายตัวอยู่ที่ 0.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อขยายตัวอยู่ที่ 0.99% โดยมีความเป็นไปได้อยู่ที่ 60%

นอกจากนี้ หอการค้ายังประเมินในกรณีที่ดีที่สุดภายใต้สมมติฐานที่สหรัฐและอิหร่านสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ สงครามการค้าอยู่ในภาวะผ่อนคลาย เงินบาทอ่อนค่าขึ้นอยู่ที่ระดับ 30.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ สถานการณ์ภัยแล้งดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ การเมืองรักษาเสถียรภาพได้ดี โดยจะทำให้ GDP ของไทยขยายตัวอยู่ที่ 3.2% การส่งออกขยายตัวอยู่ที่ 2.1% อัตราเงินเฟ้อขยายตัวอยู่ที่ 1.0% โดยมีความเป็นไปได้อยู่ที่ 15%

แต่ทั้งนี้หอการค้ายังประเมินกรณีที่แย่ที่สุดภายใต้สมมติฐานที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่านมีความรุนแรงมากขึ้น มีปฏิบัติการทางทหารซึ่งเป็นแรงกดดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น สงครามการค้ามีความเข้มข้น เงินบาทแข็งค่าทำให้หลุดกรอบที่ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ภัยแล้งมีสถานการณ์ใกล้เคียงกับปี 2557-2559 การเมืองขาดเสถียรภาพ โดยจะทำให้ GDP ของไทยขยายตัวอยู่ที่ 2.5% การส่งออกติดลบ 0.4% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.8% โดยมีความเป็นไปได้สูงถึง 25%

“แต่หากดูมุมมองความกังวลที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยที่หอการค้าประเมินไว้นั้น คือ ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากปัญหาทางการเมือง โดยมีการประท้วง และเกิดภาวะ สร้างความมั่นใจให้กับ ประชาชนภายในประเทศ โดยส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การบริโภคชะลอตัว นักลงทุนไม่กล้าลงทุน ค่าเงินบาทแข็งค่า โดยปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยสูงมาก แต่ทั้งนี้สถานการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”

ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2563 หากดูในเรื่องของปัจจัยบวก เช่น สงครามการค้าเริ่มมีสัญญาณที่ผ่อนคลาย เศรษฐกิจโดยเฉพาะในเรื่องของภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเห็นผล การลงทุนของภาครัฐเริ่มปรับตัวดีเมื่อเทียบจากปีก่อน เอกชนเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี แบงก์ชาติมีมาตรการผ่อนคลาย ส่วนปัจจัยลบที่จะมีผลกระทบนั้น เช่น ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอิหร่าน เงินบาทแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินอื่น ความเสี่ยงเรื่องของผลกระทบจากภัยแล้ง การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเป็นผลให้ มีการปล่อยสินเชื่อน้อยลง ความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก โดยเชื่อว่าจะกระทบต่อเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจหายไปประมาณ 100,000 ล้านบาท เช่น ปัญหาภัยแล้งคาดว่าจะกระทบต่อเม็ดเงินในระบบ 10,000 ล้านบาท การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน จะส่งผลต่อเม็ดเงินในระบบถึง 25,000 – 30,000 ล้านบาท ขณะที่ การส่งออกหากหดตัวไป 1% จะทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบ 70.000-80,000 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวภาครัฐอาจจะต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งมองว่ามีความล่าช้าโดยคาดว่าจะเห็นการเบิกจ่ายการลงทุนได้ประมาณช่วงกลางปี 2563

ส่วนการประเมินเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 เศรษฐกิจจะขยายตัว 2.6% ส่วนความกังวลเรื่องของค่าเงินบาทจะแข็งค่ารถในกรอบ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มองว่าไม่น่าจะหลุดกรอบดังกล่าวโดยจะยังคงอยู่ในระดับนี้ไปก่อน อย่างไรก็ดียังคงต้องติดตามปัจจัยต่างๆ อย่างใกล้ชิดทั้งภายในและภายนอก ปัญหาเรื่องความภัยแล้งระดับน้ำในเขื่อน การปล่อยสินเชื่อของสถาบันทางการเงิน อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยการขยายตัวการส่งออก การลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงภาคการผลิต การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้