“อนาคตใหม่” ถอดบทเรียนถกงบฯ’63 รุมสับหน่วยงานแจงเหมือนสนทนาธรรม ลงทุนน้อย-ใช้ไม่ฉลาด

“อนาคตใหม่” จัดเสวนาถอดบทเรียนพิจารณางบฯ ’63 “ธนาธร” ชี้ 5 ปัญหาหลักประเทศ – ปรับ 4 ฐานคิดใหม่ใช้เงิน “ศิริกัญญา” อัดหน่วยงานแจงงบเหมือนสนทนาธรรม “สุรเชษฐ์” อัดงบลงทุนน้อย-ใช้อย่างไม่ฉลาด

“อนาคตใหม่” ถอดบทเรียนพิจารณางบฯ 63

เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ห้องประชุมวิวัฒนไชย อาคารไทยซัมมิท พรรคอนาคตใหม่จัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ “อนาคตงบประมาณไทย อนาคตใหม่ประชาชน” ซึ่งเป็นประสบการณ์และข้อเสนอการจัดการงบประมาณประเทศฉบับอนาคตใหม่ โดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นำทีม ส.ส.และคณะทำงานใน กมธ.พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ร่วมพูดคุย อาทิ ศิริกัญญา ตันสกุล, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์, สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ, ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ, รอมฎอน ปันจอร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังมีการเสวนาย่อย โดยคณะอนุกรรมาธิการ หัวข้อ “How to ตัด : ตัดงบอย่างไรให้เหลือเท่าเดิม” โดย จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์, เอกการ ซื่อทรงธรรม, สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ, สุพิศาล ภักดีนฤนาถ และณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ โดยมีประชาชนที่สนใจการเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก โดยเริ่มต้น นายธนาธร ได้แนะนำความสำคัญในการจัดกงานครั้งนี้ พร้อมทั้งแนะนำตัววิทยากรแต่ละคน และได้กล่าวสรุปปิดท้ายหัวข้อ “อนาคตงบประมาณ อนาคตประเทศไทย”

“ธนาธร” ชี้ 5 ปัญหาหลักประเทศตั้งเป็นธง-ต้องแก้

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวในหัวข้อดังกล่าวว่า ถ้าพรรคอนาคตใหม่ได้เป็นฝ่ายบริหาร เงินงบประมาณแผ่นดินจะจัดสรรในการพัฒนาประเทศอย่างไรนั้น ขั้นแรกต้องมองให้เห็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ซึ่งวันนี้มี 5 ปัญหาหลัก ได้แก่ 1.ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ 2.เศรษฐกิจย่ำแย่ 3.การใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ 4.รัฐราชการรวมศูนย์ และ 5.ขีดความสามารถแข่งขันประเทศที่ลดลง ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ต้องจัดสรรงบประมาณในการแก้ไข หากแต่สถานการณ์วันนี้คือ กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมลดลง เม็ดเงินที่ควรหมุนไปแก้ปัญหาไม่ได้ใช้อย่างจริงจัง มีความเหลื่อมล้ำกับบริการภาครัฐที่ย่ำแย่แม้แต่ในกรุงเทพฯ เช่น ศูนย์เด็กเล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน งบต่อหัวของนักเรียนที่ไม่เคยเพิ่มขึ้นเลยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสรุปคือ ประเทศไทยมีการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

“หากปัญหาประเทศ 5 ข้อหลักนั้นคือปัจจุบัน ส่วนอนาคต คือ วิสัยทัศน์ที่เราอยากเห็นนั่น คือ คนเท่าเทียมกัน ไทยเท่าทันโลก ช่องว่างตรงนี้จะต้องถูกอุดด้วยการจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะบทบาทของงบประมาณนั้น คือตัวแทนความฝันและคำสัญญาที่รัฐบาลได้ให้ไว้กับประชาชน คิดฝันอย่างไร จัดสรรงบประมาณไปอย่างนั้น แต่ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เราไม่ได้เห็นการใช้ไปกับเรื่องเหล่านั้นเลย แต่เป็นเพื่อ 2 วัตถุประสงค์ คือ 1.ผู้มีอำนาจครองอำนาจต่อไป 2.ซื้อความภักดีเพื่อค้ำยันอำนาจนั้น ไม่เห็นการจัดสรรงบประมาณที่แก้ปัญหาประเทศ” นายธนาธร กล่าว

ปรับ 4 ฐานคิดใหม่จัดสรรงบฯ-เล็งตั้งทีมตรวจสอบต่อ

นายธนาธร กล่าวว่า การจะพาประเทศจากปัจจุบันไปสู่อนาคตที่เราอยากเห็นตามวิสัยทัศน์นั้น ต้องมีปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ คือ 1.ความมุ่งมั่น 2.มีอำนาจ และ 3.ฐานคิดใหม่ในการจัดสรรงบประมาณ โดยฐานคิดใหม่ของการจัดสรรงบประมาณที่พรรคอนาคตใหม่ของนำเสนอ ได้แก่ 1.เปลี่ยนงบดำเนินการ ที่ใช้ไปกับสิ่งไม่มีประโยชน์ เป็นงบลงทุนเพื่อตอบโจทย์ 2.อำนาจตัดสินใจใช้งบประมาณต้องให้ท้องถิ่น 3.เมกะโปรเจ็คต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วเอื้อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ต้องเปลี่ยนเป็นโครงการขนาดย่อยที่ตอบสนองชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศ และ 4.สวัสดิการที่พิสูจน์ความยากจน ต้องเปลี่ยนเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับทุกคน

“เรามีทรัพยากรเพียงพอ 3.2 ล้านล้านบาทต่อปี ถ้าเราจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ จะพาประเทศไทยไปไกลกว่านี้ได้ จะสามารถสร้างสังคมที่คนเท่าเทียมกันได้ ตลอด 3 เดือนในการพิจารณางบประมาณที่ผ่านมา เราทำงานอย่างทุ่มเทเต็มที เพื่อปกป้องผลประโยชน์ ซึ่งเป็นภาษีของประชาชน ให้สมกับที่ประชาชนได้เลือกเราเข้าไปทำหน้าที่นี้ จากนี้ไป จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น และเราจะตั้งทีมขึ้นมาตรวจสอบติดตามการใช้งบประมาณ 2563 ของรัฐบาลด้วย” นายธนาธร กล่าว

“ศิริกัญญา” อัดวาระ2 แจงงบเหมือน “สนทนาธรรม”

ก่อนหน้านี้ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ และหนึ่งใน กมธ. กล่าว ถึงข้อสังเกตที่มีต่อวิธีการพิจารณางบประมาณและข้อเสนอต่อวิธีการพิจารณางบประมาณในอนาคต โดยระบุว่า ขั้นตอนการพิจารณางบประมาณ มี 3 วาระ โดยวาระที่ 1 มีการอภิปรายรับหลักการ ต่อมาตั้ง กมธ. ซึ่งได้ต้อนรับหน่วยงานมากมายมาชี้แจง แต่แทนที่จะเป็นการซักหน่วยงานเรื่องงบประมาณอย่างเข้มข้น ว่าจะเอางบประมาณไปใช้อย่างไร วิธีการพูดคุยกันในห้อง กมธ. ตนขอเรียกว่ากลับเป็นการสนทนาธรรม คือ การพูดคุยแลกเปลี่ยนทั่วไป ไม่เกี่ยวกับงบประมาณที่เรากำลังทำกันอยู่ กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ หมดเปลืองเวลาไปโดยที่เป้าหมายไม่ชัดเจน

“ส่วนวาระสุดท้าย แม้เราจะอภิปรายได้ดีแค่ไหน เปลี่ยนใจประชาชนทั่วไปได้เพียงใด แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนใจ ส.ส.ท่านอื่นได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือเป็นสภาฝักถั่ว เห็นชอบกับทุกมาตราที่มีการเสนอกับสภา ทำให้เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงงบประมาณในชั้นนี้ได้แม้แต่น้อย แต่เราก็ไม่ได้ท้อใจ และคิดว่าถึงแม้จะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มากในชั้นนี้ แต่ถ้าเราได้เล่าให้ประชาชนฟัง สามารถทำให้ประชาชนติดตามตรวจสอบงบไปกับพวกเรา จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต” ศิริกัญญา กล่าว

4 ข้อเสนอการทำงบประมาณที่อยากเห็น

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า บทเรียนข้อเสนอการทำงบประมาณที่พรรคอนาคตใหม่อยากเห็น 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.เราอยากเห็นการพิจารณางบประมาณจากรายรายการ เปลี่ยนเป็นพิจารณาที่ผลการดำเนินงาน 2.เปลี่ยนจากตัดงบประมาณเป็นเปอร์เซ็ฯนต์ เป็นตัดงบประมาณรายโครงการ 3.เปลี่ยนการเรียกพบหน่วยรับงบประมาณ จากการสนทนาธรรมให้เป็นการใช้บทวิเคราะห์ทางเทคนิคจากสำนักงบประมาณรัฐสภาเป็นตัวนำ และ 4.เปลี่ยนเอกสารจากเป็นเล่ม ให้เป็นเอกสารไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การวิเคราะห์ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เราพูดถึงงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาทมาแล้ว แต่สภาไม่เคยมีอำนาจไปเปลี่ยนแปลงอีกด้านของงบประมาณ คือเรื่องของอัตราภาษีหรือรายได้ได้เลย เพราะเป็นอำนาจบริหารเพียงฝ่ายเดียว สิ่งนี้ทำให้ตนอยากชวนทุกคนคิดต่อว่า สภาควรมีส่วนพิจารณาในฝั่งรายได้ด้วยได้หรือไม่ และการที่รัฐธรรมนูญห้ามสภาแปรญัตติเพิ่มงบประมาณ แต่จริงๆแล้ว ส.ส.ควรมีสิทธิแปรงบเพิ่มให้กับหน่วยงานหรือไม่” ศิริกัญญา กล่าว

“สุรเชษฐ์” อัดงบลงทุนน้อย-ใช้อย่างไม่ฉลาด

ด้านนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงษ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ และหนึ่งใน กมธ. กล่าวถึงรายจ่ายลงทุน โดยให้ชื่อหัวข้อว่า “การลงทุนมีความเสียว” อธิบายถึงความน่าหวาดเสียวของการลงทุนในปัจจุบัน และสิ่งที่ต้องมีการแก้ไขในอนาคต โดยระบุว่า การลงทุนภาครัฐมีความเสียว คือเลยจุดเสี่ยงไปแล้ว หวาดเสียวว่าประเทศจะไม่พัฒนาและจะย่ำอยู่เช่น 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เรามีเงินและศักยภาพ งบประมาณราย 3.2 ล้านล้านบาท แต่จำนวนมากและอำนาจการตัดสินใจทั้งหมดอยู่ที่ส่วนกลาง ทุนคนพยายามหาทางดึงเงินจากตรงนี้ และถ้าเราไปดูในรายละเอียดจะพบว่าสิ่งที่เป็นรายจ่ายประจำสูงถึง 75% รายจ่ายลงทุนมีเพียง 20.5% และที่เหลือเป็นรายจ่ายอื่นๆ ซึ่งใน 20.5% นี้ เป็นสิ่งที่มีรายละเอียดในนามงบลงทุน 15.3% นอกนั้นไม่มีรายละเอียด ขอเอกสารไปก็ไม่เคยได้ เพราะฉะนั้น คำถามก็คือส่วนต่าง 5% นี้มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
“ประเทศของเรามีเงิน แต่ใช้อย่างไม่ฉลาด ถ้าไปดูนโบายรัฐบาล ผมขอเรียกมันว่าเป็นนโยบายดาวล้านดวง มีดาวสวยหรูเต็มท้องฟ้าแล้วให้แต่ละหน่วยงานไปจับดาวกันคนละดวง แต่ไม่มีดาวเหนือดวงเดียวกันที่นำทาง ทำให้ทุกหน่วยงานไปกันคนละทิศละทาง ทำให้การใช้งบประมาณลงทุนที่ผ่านมาเต็มไปด้วยการซื้อของที่ไม่จำเป็น ลงทุนแบบไม่คุ้มค่า หรือลงทุนแบบซ้ำซ้อน” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

เสนอตั้งเป้าให้ชัด – กระจายอำนาจเงินสู่ท้องถิ่น

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าหวาดเสียว คือการจัดงบประมาณแบบนี้ทำให้ประเทศไม่พัฒนา ไม่ว่าจะสารพัดโครงการประชารัฐต่างๆ หรือนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่ การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส จัดงบแบบประเทศไม่อยากพัฒนา มือใครยาวสาวได้สาวเอาต้องแย่งงบประมาณกันใช้ สุดท้ายทั้งหมดนี้ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาได้ นี่เป็นเหตุให้เราต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงบประมาณในด้านการลงทุนให้ได้ ถ้าอนาคตใหม่ได้เป็นรัฐบาล เราจะเข้าไปปรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนขึ้นมา เราจะไม่ทำทุกอย่างแบบดาวล้านดวงที่ผ่านมา

“ประการต่อมา เราต้องเปลี่ยนจากกรุงเทพคือประเทศไทย เป็นการกระจายอำนาจและเม็ดเงินสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง นอกจากนี้มันต้องเป็นการลงทุนเพื่อทุกคน คือการให้อำนาจการตัดสินใจกับท้องถิ่นมากขึ้น สร้างงานในท้องถิ่นมากขึ้น แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง และสุดท้าย ด้วยความจำกัดของงบประมาณ เราต้องออกแบบการลงทุนที่ต้องคุ้มค่าและไม่ซ้ำซ้อนให้ได้ และนี่คือสิ่งที่อนาคตใหม่จะทำ” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

อัดแผนบูรณาการงบใต้-การทหารนำทุกอย่าง

ขณะที่ นายรอมฎอน ปันจอร์ อนุกรรมาธิการพิจารณาแผนบูรณาการจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ในรอบ 16 ปีที่ผ่านมา เรามีต้นทุนมหาศาลที่ถูกใช้ไปกับความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่แค่ตัวเงินอย่างเดียว แต่มีชีวิตผู้คนจากทุกฝ่ายด้วย สิ่งที่ตนค้นพบจากการทำงานคือ เห็นว่าการพูดคุยกับผู้เห็นต่างมีความสำคัญน้อยกว่าการที่ทำให้คนต้องคิดแบบเดียวกับรัฐใช่หรือไม่ รวมถึง กรอบคิดในการกำหนดแผนการใช้เงินของรัฐในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจ คือ ในโครงการเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้อง มีตัวชี้วัดความสำเร็จ อยู่ที่การที่เด็กและเยาวชนที่อายุ 1-15 ปีมีการเปลี่ยนแนวคิดเพิ่มขึ้นร้อยละ 20% นี่เป็นเรื่องใหญ่ เท่ากับเรากำลังจะยกระดับปัญหาเข้าสู่เวทีสากล

“จากการทำงานงบประมาณแผนบูรณาการ สรุปได้ว่าแผนบูรณาการไม่ใช่การบูรณาการอย่างแท้จริง ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่าการทหารนำทุกอย่าง ใช้กรอบคิดของทหาร การมองเป็นศัตรูต้องทำลาย ไล่ล่าและทำลายล้าง ใช้กำลังครอบงำแนวทางของรัฐอยู่ ภายใต้กรอบคิดผู้ชนะกินรวบ ขับเคลื่อนด้วยความกลัว ซึ่งตนตั้งข้้อสังเกตว่า เป็นรูปแบบเดียวกับสมัยเผด็จการ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ส่งผลด้านกลับให้เกิดกองกำลังติดอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับรัฐเติบโตขึ้นมาได้แบบทุกวันนี้ หล่อเลี้ยงฝ่ายตรงข้ามให้เติบโต เรากำลังอยู่ในเทรนด์การจัดการความขัดแย้งแบบอำนาจนิยม” นายรอมฎอน กล่าว

ทั้งนี้ นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า เราในฐานะประชาชน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้เท่าทันการใช้งบประมาณของรัฐ และสนับุสนุนและส่งเสริมพลังการตรวจสอบของรัฐสภา ส่วนสิ่งที่ตนอยากเสนอพรรคอนาคตใหม่ว่าต้องมุ่งมั่นทำต่อไป คือการดึงงานความมั่นคงให้มาอยู่ในมือของพลเรือนที่สามารถตรวจสอบได้ และการถ่วงดุลการทหารด้วยการเปิดพื้นที่ทางการเมือง