“ภูมิธรรม” ย้ำ ยื่นญัตติซักฟอก 20 ม.ค. ไล่ “งูเห่า” ลาออก ถ้าไม่สะดวกใจอยู่พรรค

“ภูมิธรรม” ย้ำ ยื่นญัตติซักฟอก 20 ม.ค. เตรียมหารือ พรรคร่วมฝ่ายค้าน สรุปรัฐมนตรีถูกอภิปรายเพิ่ม บอก พวกโหวตสวนมติพรรคไม่สะดวกใจอยู่ในพรรค ก็ควรพิจารณาตัวเองลาออกไปเลือกหนทางใหม่

เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความพร้อมในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ว่า หลังจากพรรคเพื่อไทยมอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ มารับผิดชอบดูแลการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้รวบรวมเรื่องราวการบริหารงานของรัฐบาลนี้ ทั้งเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ที่ทำให้สังคมไม่สบายใจ การเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องตัวเอง การบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ มีรัฐมนตรีที่อยู่ในข่ายถูกยื่นอภิปราย 4-5 คน เป็นไปตามที่ร.ต.อ.เฉลิม ได้เคยให้ข้อมูลไปก่อนหน้านี้ นายกฯ ในฐานะผู้นำ ที่กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง การบริหารที่บกพร่องเกิดขึ้นคงจะปฏิเสธ แยกออกจากนายกฯ ไม่ได้ คงจะถูกอภิปรายมากหน่อย ส่วนรัฐมนตรีที่อาจจะถูกอภิปรายเพิ่มนั้น ในฐานะที่ตนเป็นผู้ประสานงานกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้พูดคุยกันอยู่ตลอด สิ่งที่พอสรุปได้ชัดเจนคือ จะมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงวันที่ 20 มกราคม แม้การกำหนดวันอภิปราย เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ไม่มีการระบุกรอบเวลาเอาไว้ชัดเจน แต่เราก็ไม่อยากจะยื่นญัตติเร็ว เพราะไม่เช่นนั้น อาจจะมีการกำหนดวัดอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 25 มกราคม ซึ่งตรงกับเทศกาลตรุษจีน อาจทำให้การอภิปรายไม่ค่อยได้รับความสนใจ แต่หากยื่นญัตติช่วงวันที่ 20 มกราคม ที่อาจจะบวกลบอีกนิดหน่อย จากนั้นมีการบรรจุญัตติ อาจทำให้เวลาของการอภิปรายจะอยู่ในช่วงปลายเดือนมกราคม หรือต้นเดือน กุมภาพันธ์

นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะไม่ใช้เวทีดังกล่าวสร้างวาทกรรม มุ่งโจมตี หรือจะมาตีรวน ขณะเดียวกันเวทีนี้ก็ไม่ใช่เวทีที่จะมีฝึกพูด พรรคฝ่ายค้านกำลังทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ตรวจสอบถึงความไม่ชอบมาพาพล ไร้ประสิทธิภาพการบริหารงาน รัฐมนตรีที่จะถูกยื่นอภิปรายจะมีเพิ่มอีกหรือไม่ พรรคเพื่อไทยไม่ได้ปิดกั้น ให้แต่ละพรรคไปดูเรื่องที่จะอภิปรายแล้วมาตกลงกัน นำหลักการ เหตุผลมาอธิบายกัน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนัดคุยกันกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้ง ในเรื่องของผลการอภิปราย ฝ่ายค้านที่มีเสียงข้างน้อย ในภาวะที่รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ การอภิปรายของฝ่ายค้านอยู่ในเหตุและผล แล้วให้สังคมร่วมตัดสินใจ รัฐบาลหากแก้ปัญหาจัดการไม่ได้ก็คงบริหารไม่ได้ เพราะประชาชนไม่ให้ความเชื่อมั่น เมื่อดูจากปรากฏการณ์ที่ประชาชนแสดงออกถึงความไม่พอใจที่มาต่อรัฐบาล ยิ่งสะสมมากขึ้น สิ่งที่รัฐบาลแก้ได้ โดยเร่งจัดการกับปัญหาทุจริตคอรัปชั่น เปลี่ยนคนที่ไร้ประสิทธิภาพ แก้ปัญหาไม่ได้ หากรัฐบาลเร่งทำก่อน อาจทำให้ความรู้สึกประชาชนที่มีต่อรัฐบาลดีขึ้นก็ได้

เมื่อถามว่า จะมีการควบคุมสมาชิกของพรรคอย่างไร เพื่อให้โหวตไปในทิศทางเดียวกัน นายภูมิธรรม กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ ด้วยความที่เป็นพรรคการเมือง เราต้องยืนหยัดในผลประโยชน์ของประชาชน อย่าทำอะไรที่ฝืนความรู้สึกประชาชน ถ้ามีสำนึกโดยรวม บุคคลหรือนักการเมืองใครก็ตาม ถ้าไม่สบายใจไม่สะดวกใจที่จะอยู่ในพรรคการเมือง ก็ควรพิจารณาตัวเองลาออกไปเลือกหนทางการเมืองของตนใหม่ แต่ถ้ายังอาศัยร่มไม้ชายคาอยู่ หากทำอะไรที่ผิดมติของพรรค ในทางการเมืองถือว่าผิดจริยธรรมทางการเมืองอย่างร้ายแรง ในส่วนของการสอบสวน ส.ส.ของพรรคที่เคยโหวตสวนมติพรรคนั้น ทางพรรคได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ แม้มีบางคนที่ยังติดขัดจะมาให้ข้อมูล เนื่องจากที่ผ่านมาเดินทางไปต่างประเทศ ทางพรรคก่อนจะตัดสินใจก็จะดูตามข้อมูลสิ่งต่างๆ แล้วพิจารณาออกมาตามเนื้อผ้า