ทำไมบทบาท “ภาคธุรกิจเอกชนชั้นนำ” จึงสำคัญต่อการพัฒนาและยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้ประเทศไทย

ทำไมบทบาท “ภาคธุรกิจเอกชนชั้นนำ”
จึงสำคัญต่อการพัฒนาและยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้ประเทศไทย
โดย ศาสตราจารย์ อาร์ตูโร บริส ผู้อำนวยการ IMD World Competitiveness Center

     ปี 2562 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากสถาบัน IMD World Competitiveness Center ว่ามี “ขีดความสามารถในการแข่งขัน” ที่อันดับ 25 ขยับขึ้นจากปี 2561 ถึง 5 อันดับ จากการสำรวจเขตเศรษฐกิจทั้งหมด 63 ประเทศทั่วโลก โดยพิจารณาจาก 4 ด้านสำคัญ คือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ , ประสิทธิภาพของภาครัฐ , ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน

ปัจจัยสำคัญของการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศหนึ่งๆได้นั้น อะไรคือปัจจัยความสำเร็จ?

     นับตั้งแต่ปี 2540 ที่ IMD ได้วิเคราะห์ความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่า 63 ประเทศ  พบว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเพิ่มขีดการแข่งขันได้อีก โดยมีปัจจัยสำคัญอยู่ที่ “รัฐบาล” และ “ภาคธุรกิจเอกชน” ซึ่งต้องมีประสิทธิภาพที่ดีทั้งคู่ จึงจะทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจดีขึ้น และที่สำคัญภาคธุรกิจเอกชนมีบทบาทสำคัญคู่ขนานไปกับบทบาทของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย

     “ภาครัฐและเอกชนต้องเกื้อหนุนกัน จึงจะทำให้เกิดความสำเร็จทั้งในระดับประเทศและองค์กรได้ และการมองถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จะต้องไม่มองไปที่ความสามารถแข่งขันเฉพาะในภาคเอกชนเท่านั้น แต่ต้องมองถึงความสามารถในการสร้างความมั่งคั่งของประเทศด้วย ในที่นี้ คือ ความสามารถในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งส่วนนี้ภาคธุรกิจเอกชนจะมีส่วนช่วยประเทศไทยมั่งคั่งขึ้นได้ เพราะถ้าประเทศมั่งคั่งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ธุรกิจเอกชนก็ประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน

     ทั้งนี้การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ มี 3 ปัจจัยที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จ คือ 1.รัฐบาล ที่ต้องบริหารและกำกับกิจการที่มีประสิทธิภาพ 2.ภาคเอกชนจะต้องมีความสามารถในการบริหารทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถสูง 3.ความสามารถขององค์กรธุรกิจในการสร้างนวัตกรรม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งรัฐบาลและภาคธุรกิจเอกชนคือองคาพยพสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แนวโน้มในการชี้วัดเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์เรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศทั่วโลกกำลังเปลี่ยนไป ไม่ได้เน้นที่ GDP เป็นหลักเช่นในอดีต แต่ปัจจุบันต้องคำนึงถึงการเติบโตที่ มีคุณภาพชีวิต ความยั่งยืน การกระจายความมั่งคั่ง เพื่อตอบให้ได้ว่าคุณภาพชีวิตประชากรในประเทศจะดีขึ้น ดังนั้นต้องมองผลิตภาพ (Productive) และประสิทธิภาพทางธุรกิจที่จะส่งผลให้เกิดความมั่งคั่งในประเทศ

     ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพัฒนาการของประเทศไทยตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา ในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ไทยเน้นความสามารถในการผลิตซึ่งทำได้ดีขึ้น สิ่งสำคัญคือขีดความสามารถเหล่านี้ต้องแปรให้เป็นนโยบายสู่มวลชนได้ด้วย แต่พบว่าสถานการณ์  Capital Income รายได้บริษัท กับ Labour Income รายได้ของแรงงาน ยังมีช่องว่างกันมาก ซึ่งลักษณะนี้จะยิ่งทำให้ประเทศไม่มั่นคงมากขึ้น ซึ่งกรณีนี้เริ่มเกิดในหลายประเทศในยุโรป และอเมริกาใต้ ดังนั้นบทบาทสำคัญของภาคเอกชน คือการจ้างงานให้กลไกเศรษฐกิจหมุนเวียน พิจารณาอัตราค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสม โดยข้อเท็จจริงคืออัตราค่าจ้างควรปรับขึ้นเพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีรายได้พอที่จะเสียภาษีซึ่งจะกลับคืนสู่รัฐ และรัฐนำงบประมาณกลับมาพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ดังนั้นนอกจากเอกชนจะลงทุนในเซคเตอร์ที่ถูกต้องแล้ว ภาครัฐต้องมีการช่วยเหลือด้านภาษี ดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศ ทั้งหมดนี้จะเป็นระบบที่ช่วยทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น

        “แนวทางการสร้างประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของประเทศที่เหมาะสมต้องไม่ใช้วิธีกีดกันทางการค้า(Protectionism) หรือเลือกใช้วิธีอุดหนุนจากรัฐ (Subsidies) หรือใช้กรณีเพิ่มผลิตภาพ (Increase Productivity) ไปจนถึงมาตรการด้านภาษี (Taxes) เพียงอย่างเดียว แต่การสร้างประสิทธิภาพด้านเศรษฐกิจที่ดี ควรใช้วิธีสร้างงานให้เกิดขึ้นในประเทศ (Focus on job creation) ผสมผสานกับการที่รัฐใช้งบประมาณอัดฉีดในบางจุด รวมทั้งมีระบบประกันรายได้ขั้นต่ำร่วมด้วยบ้าง (Minimum Guaranteed Income)  พร้อมกันนั้นต้องดึงภาคเอกชนให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้สังคมและประเทศ ทั้งหมดนี้จะช่วยทำให้ทรัพยากรกระจายตัวยิ่งขึ้น เพิ่มทั้งความมั่งคั่งให้ประเทศและความมั่งคั่งด้านคุณภาพชีวิตของประชาชน นอกจากนี้ประเทศไทยต้องปฏิรูปการเมืองและเพิ่มความปรองดองในประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้เท่าเทียม ทั้งรัฐบาลและเอกชนจะต้องมีเป้าหมาย และวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศร่วมกัน”

ขณะเดียวกัน องค์กรธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ต่อไปจะให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งวันนี้ได้เห็นว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นภาคธุรกิจเอกชนของไทยมีจุดแข็งเรื่องความยั่งยืน ซึ่งประเด็นความยั่งยืนจะเป็นวาระสำคัญในระบบทางการตลาด เพราะองค์กรธุรกิจจะต้องไม่โยนภาระให้ลูกค้าเพียงเพื่อรักษาผลกำไรของตัวเองให้ขึ้นสูง แต่องค์กรธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบทางสังคม

     ทั้งนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นหนึ่งในองค์กรธุรกิจชั้นนำที่จะมีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ทำได้ดีมากในประเด็นความยั่งยืน การวางเป้าหมายทางธุรกิจที่ไม่ผลักภาระไปสู่ผู้บริโภคจะเป็นบริบทใหม่ของสังคม  ดังนั้นการเลือกเส้นทางความยั่งยืนจึงต้องเป็นเป้าหมายสำคัญขององค์กรเช่นนี้ต่อไป

     บทบาทขององค์กรธุรกิจภาคเอกชน โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่จึงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้กับประเทศไทย เพราะบริษัทเอกชนใหญ่ๆที่มีเสถียรภาพมากนั้น มีทั้งส่วนที่เป็น Value Company และ Growth Company ที่มีบทบาทสร้างเศรษฐกิจและมูลค่าให้ประเทศ

     “การจะสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพได้นั้น รัฐบาลต้องสวมบทบาทผู้นำโดยมีเอกชนมาร่วมหนุนในฐานะผู้ตามสนับสนุนขับเคลื่อนของรัฐเพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความมั่งคั่ง โดยเฉพาะเป็นความมั่งคั่งของคุณภาพชีวิตของประชากรที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญ”

     การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมจึงต้องขับเคลื่อนไปด้วยกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องมีบทบาทเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ที่มา : สรุปและเรียบเรียงจากการบรรยายของ ศาสตราจารย์ อาร์ตูโร บริส ผู้อำนวยการ IMD World Competitiveness Center ซึ่งเป็นองค์กรจัดทำดัชนีชี้วัดการแข่งขันของประเทศต่างๆทั่วโลก ในหัวข้อ “Thailand and countries in Asia competitiveness and how the countries and C.P.Group should strategically plan for the next decade” จัดโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม Auditorium ชั้น 6 ตึก Pegasus ทรู ดิจิทัล พาร์ค