ฝ่ายค้าน รุมถล่ม ม.4 ตั้งงบ 3.2 ล้านล้าน อุ้มรัฐราชการ ไม่สอดคล้องนโยบาย ส่อขัดรธน.

ฝ่ายค้าน รุมถล่ม ม.4 ตั้งงบ 3.2 ล้านๆ อุ้มรัฐราชการ ส่อขัดรธน. เตือน ส.ส.โหวตผ่านระวังถูก ป.ป.ช.สอบ

ต่อมา เข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 4 ว่าด้วยการตั้งงบประมาณปี 2563 วงเงิน 3.2ล้านล้านบาท กมธ.เสียงข้างมากไม่มีการแก้ไข แต่กมธ.เสียงข้างน้อย ซึ่งเป็นซีกฝ่ายค้าน ลงชื่อขอสงวนความเห็น 25 คน และมีส.ส.สงวนคำแปรญัตติทั้งสิ้น 44 คน โดย กมธ.เสียงข้างน้อย ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย อาทิ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ได้ลุกขึ้นอภิปรายตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติในหลายเรื่อง ไม่ว่า การจัดสรรงบประมาณ ตามร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 ถือว่าขัดกับพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ว่าด้วยการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้กับหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และทุนหมุนเวียนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่การเสนอจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลตามร่างพบจัดสรรให้กับทุนหมุนเวียนที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ให้กับ 20 กองทุนหมุนเวียน รวมเป็นเงิน 1.97แสนล้านบาท รวมไปถึงยังมีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย จึงกังวลว่า หากส.ส.ลงมติสนับสนุนหรือผ่านร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายจงใจฝ่าฝืนบทรัฐธรรมนูญและทำผิด จนอาจนำไปสู่การยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบและมีระยะเวลาตรวจสอบนานถึง 10 ปี ซึ่งกมธ.เสียงข้างได้ท้วงติงแล้ว เพราะอาจสร้างปัญหาให้กับสภา แต่ไม่ได้รับการพิจารณา

ด้าน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กมธ.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อง ลุกขึ้นอภิปรายว่า การกำหนดงบประมาณของรัฐบาลไม่สอดคล้องกับนโยบายของพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเป็นรัฐบาล เพราะเป็นการทำงบประมาณที่ตั้งต้นสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนโครงการที่จะออกตามนโยบายพรรคการเมืองเชื่อว่า จะออกเป็นโครงการเพิ่มเติมตามมติของครม. โดยตนมองว่า จะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณผิดจากสัดส่วนงบประมาณที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง เพราะบางกระทรวงได้รับงบประมาณสูงกว่าภาพรวมของงบประมาณทั้งหมด เช่นกองทัพ เป็นต้น ดังนั้น การเสนอปรับลดงบฯ ลง 15 % หรือ 4.3 แสนล้านบาท ถือว่าสอดคล้องกับสถานะจีดีพีของประเทศ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า งบประมาณฉบับนี้ถือเป็นงบแห่งรัฐราชการรวมศูนย์โดยแท้ เพราะส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์โดยตรงกับประชาชน แต่เป็นไปเพื่อตอบโจทย์กับระบบราชการที่มีคนอยู่ในระบบจำนวนมาก จากข้อมูลพบว่า กำลังพลภาครัฐขยับขึ้น จาก 1.5 ล้านคน ในปี 2547 มาเป็นจำนวน 2.2 ล้านคนในปี 2561 จึงทำให้งบในส่วนของบุคคลกรของภาครัฐเพิ่มขึ้น โดยปี 2561 ข้าราชการพลเรือนกระจุกตัวที่ส่วนกลางถึง 61.9 % ทั้งที่งานอยู่ในท้องถิ่น แต่ขณะที่ข้าราชการที่ในส่วนภูมิภาคมีแค่ 19.6 % อยู่ในส่วนท้องถิ่น 18.5 % แล้วแบบนี้จะกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นได้อย่างไร ดังนั้น ในภาพรวมจึงขอเสนอปรับลดงบ 15 % เพราะถ้าปรับแค่ 2-3 % จะไม่มีผลอะไร โครงการไหนที่ไม่จำเป็น สลึงเดียวก็ไม่ให้ แต่ถ้าโครงการไหนจำเป็น พันล้านก็ยอม ไม่ใช้ตัดแบบจิ๊บๆจ้อยๆ

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า การจัดสรรงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานจริง ไม่คำนึงถึงความเหมาะสมและความจำเป็นของโครงการ เช่น กรมวิชาการเกษตรตัดงบโครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ทั้งที่เป็นเรื่องจำเป็น แม้มีหลายๆ หน่วยงานทำหน้าที่ชี้วัด แต่ไม่มีการประเมินผลอย่างจริงจัง ขณะที่การปฏิรูประบบราชการไม่เป็นผล มีหน่วยงานราชการเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มรายจ่ายประจำปีขึ้นไปด้วย และมีหลายหน่วยงานราชการทำงานซ้ำซ้อนและทำงานในภารกิจที่ไม่จำเป็น และชี้ว่ามีงบประมาณในอนาคตถูกใช้ไปแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการก่อหนี้ผูกพันกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. จากโครงการประกันรายได้

ด้าน นายสันติ กีระนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า ถือว่าปรามาสกันเกินไปที่ระบุล่วงหน้าว่าการใช้งบประมาณของรัฐบาลเป็นไปไม่เหมาะสมและอภิปรายเกินจริง ทั้งนี้ยอมรับว่าสถานการณ์ภายนอกประเทศนั้นเกินกว่าที่ประเทศไทยจะควบคุม แต่สิ่งที่สภาอภิปรายไป ถือว่ายอมแพ้เร็วเกินไป ทั้งนี้การเสนอขอปรับลดงบประมาณลง ข้อเท็จจริงไม่สามารถทำได้ เนื่องจากงบประมาณก้อนใหญ่ 70% คืองบรายจ่ายประจำ หากปรับลดจะกระทบต่องบลงทุนได้ ขณะที่ประเด็นการก่อหนี้ซึ่งต้องกู้เงินเพื่อชดเชยรายจ่ายขาดดุล 4.6แสนล้านบาทนั้น ข้อเท็จจริงพบว่าในแต่ละปีภาครัฐจะมีหนี้สินที่ไถ่ถอน ประมาณ 8หมื่นล้านบาท ทำให้การกู้เงินจริงจะอยู่ที่ 3.8แสนล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามกรอบที่ไม่สูงเกินกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว

“การจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม พบการจัดเก็บรายได้สูงกว่าาประมาณการ เพราะการจัดเก็บภาษีผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ดึงผู้ที่เลี่ยงภาษีเข้าระบบได้ ขณะรายได้จากาการเก็บภาษีนำเข้า ส่วนของกรมศุลกากรนั้น จากภาวะเงินบาทที่แข็งค่า พบว่าภาคการส่งออกได้รับประโยชน์ ทั้งนี้กรมศุลกากรถือเป็นหน่วยงานจัดเก็บรายได้ที่หดตัวลงเรื่อยๆ เพราะประเด็นการค้าเสรีตามข้อตกลงเอฟทีเอ
กระจายตัวออกไป”นายสันติ กล่าว

ขณะที่ ส.ส.ซึ่งสงวนคำแปรญัตติ มีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายลุกขึ้นอภิปรายว่า ตนขอเสนอให้รัฐบาลนำข้อผิดพลาด และบกพร่องจากการจัดงบประมาณปี 2563 ปรับปรุงแก้ไขในการทำงบประมาณปี 2564 พร้อมเสนอให้จัดให้รับฟังความเห็นของส.ส. ฐานะตัวแทนของประชาชนที่สะท้อนถึงปัญหา โดยอย่าคำนึงเฉพาะการมีส่วนได้ส่วนเสียเท่านั้น ทั้งนี้ ขอสภาอย่าพูดเฉพาะแต่ปัญหาของการจัดงบประมาณปี 2563 และขัดต่อกฎหมายเท่านั้น เพราะหากไม่เริ่มต้นการรับฟังความเห็นของส.ส. เพื่อแก้ปัญหาการทำงบปี 2564 เชื่อว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนจะเกิดขึ้น และแผนการแก้ปัญหาของรัฐบาลกี่แผนไม่สามารถแก้ไขได้

ด้าน นายกรณ์ จาติกวนิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ตนได้เสนอคำแปรญัตติในการปรับลดงบประมาณโดยรวม 1% ซึ่งเป็นการเสนอในเชิงสัญลักษณ์ เพราะถ้าดูตามสภวาะการณ์ปัจจุบันอยากให้รัฐฐาลเร่งรีบในการใช้งบประมาณในการช่วยประชาชนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ออกแบบงบประมาณที่สอดคล้องสถานการณ์ โดยเฉพาะการปัญหาเฉพาะหน้าปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น พึ่งพิงการส่งออกไม่ได้แล้ว ภาคเอกชนเลิกลงทุน ซึ่งตัวทดแทนคือการลงทุนของรัฐบาล แต่เมื่อเทียบกับจีดีพีสัดส่วนลงทุนกลับลดกว่าปี 2562 ขณะที่หนี้เสียยังมีประชาชนถูกฟ้องล้มละลายนับล้านคน โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ประชาชนมีพฤติกรรมใช้จ่ายที่เปลี่ยนไป ใช้จ่ายผ่านระบบอีคอมเมิช เอสเอ็มอีแข่งขันไม่ได้ รายได้กว่าร้อยละ 60 อยู่ที่ผู้ประกอบการร้อยละ 5 เท่านั้น ตลอดจนการรองรับโครงสร้างสังคมซึ่งเป็นสังคมสูงอายุ ภาวะโลกร้อน และความเปลี่ยนเปลงทางเทคโนโลยี และอยากให้รัฐบาลคำนึงถึงความจำเป็นในการจัดงบประมาณที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าภาษีถูกใช้เพื่อประชาชน ไม่ใช่หน่วยงานรัฐบาลเท่านั้น

ทั้งนี้ การอภิปรายในมาตรา 4 เป็นไปอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งที่ประชุมมีมติ 246 ต่อ 88 งดออกเสียง 3 เห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างที่ไม่มีการแก้ไข