เทศมองไทย : การบริโภคกับสิ่งแวดล้อม ว่าด้วย “ทราย” จากท้องน้ำโขง

ผมอ่านเรื่องทรายจากแม่น้ำโขงของ “เบธ ทิมมินส์” ในบีบีซีนิวส์ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมาแล้วได้ความรู้เรื่อง “ทราย” เพิ่มขึ้นมหาศาล

พร้อมๆ กันนั้น ความรู้สึกที่ว่าเรากำลัง “ชำเรา” แม่น้ำสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และของโลกอย่างแม่น้ำโขงในทุกรูปแบบก็ทวีเพิ่มขึ้นมากมายไปพร้อมๆ กัน

ทิมมินส์ให้ภาพรวมของทรายจากท้องน้ำทั้งหลายทั่วโลกเอาไว้ว่า คือทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก

ในแต่ละปีมนุษย์เราพากันขุดเอาทรายขึ้นมาจากแม่น้ำสายต่างๆ รวมกันแล้วมากถึง 50,000 ล้านตัน ถือเป็นอุตสาหกรรมการขุดที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มีอยู่บนโลกใบนี้

นั่นเป็นปริมาณที่มากมายขนาดไหนกัน?

ปาสคาล เปดูซซี แห่งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก ตอบเอาไว้ว่า ถ้าเรานำทรายที่ขุดขึ้นมาแต่ละปีมาก่อเป็นกำแพงขนาดสูง 35 เมตรกว้าง 35 เมตร จะได้กำแพงทรายที่มีความยาวทอดยาวล้อมโลกได้ทั้งโลกครับ

ทำไมต้องขุดทรายจากแม่น้ำ ทรายมีเยอะแยะในทะเลทราย นำมาใช้ไม่ได้หรืออย่างไรกัน?

 

ทรายแต่ละชนิด แต่ละสถานที่ แตกต่างกันออกไป ทรายแม่น้ำเหมาะสมที่สุดสำหรับใช้ในการก่อสร้าง ต่างจากทรายของทะเลทราย ที่ “เรียบเกินไป” และ “เม็ดละเอียด” มากเกินไป ไม่เหมาะใช้ในการผสมเพื่อทำคอนกรีตก่อสร้าง นำมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแก้วก็ไม่ได้ ใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่ได้อีกเช่นกัน

นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมทรายแม่น้ำจึงสำคัญและแสวงหากันนักหนา แต่เปดูซซีบอกไว้ด้วยว่า ขณะที่เป็นที่ต้องการของคน ทรายก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศ

“ทรายเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในระบบดังกล่าว การสูญเสียทรายจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ กระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่ง และทำให้น้ำมีความเค็มเพิ่มมากขึ้น” เพราะท้องน้ำลึกมากขึ้น ทำให้น้ำทะเลไหลเข้ามาผสมกับน้ำจืดเพิ่มมากขึ้น

ทิมมินส์เล่าว่า มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารวิชาการเนเจอร์เมื่อเดือนพฤศจิกายน ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงหนึ่งของลำน้ำโขง มีการทำเหมืองทรายตลอดระยะทาง 20 กิโลเมตรของลำน้ำ ซึ่งนักวิจัยเข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเหมืองที่ “ไม่ยั่งยืน”

เพราะขุดเอาทรายขึ้นไปมากและเร็วเกินกว่าที่การพัดพาตะกอนของแม่น้ำจะทดแทนให้เหมือนเดิมได้

 

รายงานการศึกษาของเวิลด์ไวด์ไลฟ์ฟันด์ (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) และคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง (แม่โขงริเวอร์คอมมิตตี้) ระบุเอาไว้ว่า แม่น้ำโขงสูญเสียระดับความสูงของท้องน้ำไป 1.4 เมตรในช่วง 10 ปีตั้งแต่ปี 1998-2008 แต่ถ้าเทียบเคียงตั้งแต่ปี 1990 เรื่อยมา ความสูงของท้องน้ำลำน้ำโขงหายไปแล้วระหว่าง 2 ถึง 3 เมตร

ศาสตราจารย์สตีเฟ่น ดาร์บี้ จากมหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตัน ศึกษาวิจัยสภาพท้องน้ำลำน้ำโขงตอนล่าง พบว่าท้องน้ำของแม่น้ำสำคัญสายนี้ลดลงถึงหลายเมตรต่อเนื่องกันเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรในชั่วเวลาเพียงสองสามปีเท่านั้น

เราใช้ทรายแม่น้ำในการก่อสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ถนนไปจนถึงโรงพยาบาล นอกจากนั้น ทรายยังเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมหลากหลายมาก ทั้งอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ปุ๋ย และอุตสาหกรรมเหล็กกล้า แต่ที่มากเป็นพิเศษคือซีเมนต์

จีนใช้ทรายแม่น้ำโขงมากที่สุด ในช่วงระหว่างปี 2011-2013 จีนใช้ทรายไปมากกว่าสหรัฐอเมริกาใช้ตลอดทั้งศตวรรษ 20 อันเนื่องจากโครงการสร้างบ้านแปงเมืองในชนบทของจีน

ทิมมินส์บอกว่า สิงคโปร์ซึ่งในเวลานี้มีดินแดนเพิ่มมากขึ้นจากเมื่อครั้งประกาศเอกราชในปี 1965 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ได้ก็เพราะทรายแม่น้ำ

 

สภาพเช่นนี้ทำให้ภาวะวิกฤตเข้าครอบงำลำน้ำโขงอย่างชัดเจน ฝั่งแม่น้ำเริ่มถล่ม ทรุดตัวลงเป็นบางช่วงบางตอน ข้อมูลของดาร์บี้ชี้ให้เห็นว่ามีผู้คนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยเฉียบพลันเพราะการนี้มากถึง 500,000 คน

ระบบนิเวศของลำน้ำโขงทั้งสายกำลังถูกคุกคาม แม่โขงไม่ได้เป็นเพียงแค่แหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุดแห่งหนึ่งของโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของโลกอีกต่างหาก

นั่นคือ แม่โขงคือแหล่งอาหารที่ผู้คนอย่างน้อย 60 ล้านคนต้องพึ่งพาอาศัยในการยังชีพอยู่ในเวลานี้

ความจำกัดของปริมาณทรายจากท้องน้ำ เคยทำให้เวียดนามและกัมพูชาประกาศอย่างเป็นทางการห้ามการส่งออกทรายจากลำน้ำโขงเด็ดขาด เวียดนามในปี 2009 ส่วนกัมพูชาในปี 2017

แต่ไม่เพียงมีการประกาศขายทรายแม่น้ำโขงตั้งแต่ 20,000 ตันจนถึง 200,000 ตันอยู่ต่อไป และรอล์ฟ อัลโต ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาของมหาวิทยาลัยเอ็กเซ็ตเตอร์ยืนยันว่า ในปีที่กัมพูชามีการห้ามการส่งออก

สิงคโปร์ยังคงนำเข้าทรายจากกัมพูชาอยู่เป็นปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่นั่นเอง