รัฐบาลจ่อชงเพิ่มมาตราการช่วย ‘เอสเอ็มอี’ เข้าครม. คาดเงินสะพัดกว่าแสนล้าน

วันที่ 4 มกราคม 2563 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง เข้าใจดีถึงสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่มีข้อจำกัดในเรื่องต้นทุนทางธุรกิจ จึงหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จนได้ข้อสรุป “มาตรการเสริมแกร่งเอสเอ็มอี เพิ่มทุน สร้างไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน” โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือด้านเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประมาณ 100,000 ราย โดยแบ่งความช่วยเหลือเป็น 3 กลุ่ม

นางนฤมล  กล่าวต่อว่า 1.กลุ่มที่มีอุปสรรคการเข้าถึงแหล่งทุนราว 50 % จากเป้าหมาย หรือราว 5 หมื่นราย บสย. จะเข้าไปช่วยขยายการค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มเติม เป็นการเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น 2.กลุ่มที่มีปัญหาด้านเงินทุนอย่างมาก และกำลังจะเป็น NPL ประมาณ 2 หมื่นรายจากกลุ่มเป้าหมาย ช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้กับ บสย. โดย บสย. จะจ่ายค่าเคลมเงินประกันให้ธนาคารผู้ให้สินเชื่อ เพื่อไม่ให้ลูกหนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง และให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม ยืดหยุ่นเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการต่อไปได้ และ 3.กลุ่มที่ดำเนินการได้ปกติแต่ต้องการเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ประมาณ 3 หมื่นราย จะได้รับการดูแลผ่านโครงการสินเชื่อพิเศษจากธนาคารรัฐ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน หรือธนาคารเอสเอ็มอีฯ เป็นต้น

มาตรการนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 มกราคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบประมาณ 1 แสนล้าน โดยไม่ได้พึ่งพางบประมาณรัฐ แต่เป็นการใช้กลไกทางการเงินผ่านระบบธนาคาร และ บสย.