“ทวี” ชี้ หากจะได้ประชาธิปไตย ด้วย “สันติวิธี” มีความยาก และ ท้าทาย อย่างยิ่ง

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และอดีตผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “มีประชาธิปไตยประเทศใดบ้างได้มาโดยสันติวิธี?” เป็นประเด็นที่ท่าน อาจารย์ พนัส ทัศนียานนท์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ตั้งเป็นคำถามไว้ ซึ่งน่าสนใจและเป็นคำถามทีดีมาก

ต่อมาท่าน อาจารย์เกษียร เตชะพีระ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก อาจเป็นคำตอบที่เป็นข้อมูลทางวิชาการโดยอ้างจากการค้นคว้าของนักวิชาการของสหรัฐอเมริกาที่พบว่าใน 76 ประเทศที่เปลี่ยนผ่าน จากระบอบอำนาจนิยมไปสู่เสรีประชาธิปไตย (แต่ไม่ทราบว่ามีของประเทศไทยไหม?) ส่วนใหญ่ คือ 47 ต่อ 20 ประเทศที่การต่อสู้ไม่ใช่ความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลง ทำให้เห็นว่า แนวทางสันติวิธีจึงเป็นไปได้

ประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศขณะนี้ เป็นเรื่องที่ท้าทายความคิดความเชื่อของฝ่ายที่ขัดแย้งในสังคมไทยเป็นอย่างมาก ว่าจะเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาแบบใด ระหว่างการใช้กำลังกระทำปฏิวัติรัฐประหาร หรือ’ใช้ระบอบเผด็จการ’ กับการเลือกใช้วิธีการตามหลักประชาธิปไตยหรือสันติวิธี หรือ ’ใช้ระบอบรัฐสภา’ในการแก้ปัญหา เพราะในเรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้นสังคมไทยขณะนี้ ถึงขั้นบางกลุ่มได้แบ่งเป็น ‘ฝ่ายเรากับฝ่ายเขา’ กันแล้ว

แม้รัฐธรรมนูญ หรือ รธน ปี 2560 จะบัญญัติให้ มีกลไกการแก้ปัญหาปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธีภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตาม มาตรา 258 ก.ด้านการเมือง (5) ก็ตาม

แต่ประสบการณ์ของประเทศไทย พบว่าผู้มีอำนาจมักต้องการสืบทอดอำนาจจะนิยมใช้การปฏิวัติรัฐประหารในการแก้ปัญหาทางการเมือง โดยไม่สนใจต่อรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดจะห้ามกระทำไว้ เมื่อปฏิวัติเสร็จก็จะเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่และนิรโทษกรรมให้การกระทำผิดไม่ต้องมีความผิดและไม่ต้องรับโทษ หรือที่เรียกกันว่า ‘ปล่อยให้คนผิดลอยนวล’ แม้แต่ รธน ปี 2517 ที่บัญญัติห้าเข็มข้นเรื่อง ห้ามนิรโทษกรรมฯ ไว้ ตาม มาตรา 4 ว่า

“การนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการล้มล้างสถาบัน พระมหากษัตริย์หรือรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้”

แต่ รธน ปี 17 ก็มีระยะเวลาใช้บังคับเพียง 2 ปี ก็ปฏิวัติรัฐประหาร (ใช้ชื่อว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน) ภายใต้การนำของ พลเรือเอกสวัด ชลออยู่ ที่ยึดอำนาจการปกครองและฉีกรัฐธรรมนูญ เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 อย่างไม่แยแสต่อความเป็นกฏหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ดังนั้น การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยโดยวิธีการสันติวิธีสำหรับประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์ พนัส และท่านอาจารย์เกษียณ มากครับ ที่ได้นำเรื่องที่สำคัญยิ่งขึ้นมาวิพากษ์ด้วย