ครช.แถลงการณ์เรียกร้อง 7 ข้อ เสนอร่าง รธน.ใหม่ฉบับ ปชช.อย่างแท้จริง

วันที่ 15 ธันวาคม 2562 เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ได้มีการอ่านแถลงการณ์ “ประชาชนขอเขียนรัฐธรรมนูญ” โดยมีตัวแทนภาควิชาการ นักศึกษา ประชาสังคม และพรรคการเมือง เข้าร่วมจำนวนมาก พร้อมทั้งมีการถือป้ายแสดงข้อความเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งนี้ ได้มีการตะโกนร้องว่า “สร้างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน” พร้อมชูกำปั้นเพื่อแสดงพลังเรียกประชาธิปไตยและเรียกร้องรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง

นายอนุสรณ์ อุณโณ ประธานคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบัน หรือ พ.ศ.2560 ไม่ได้มาจากความเห็นฟ้องต้องการของประชาชน แต่ก่อเกิดขึ้นจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้ทำการรัฐประหารและโค่นอำนาจไปจากประชาชน และฉีกรัฐธรรมนูญเดิมและเขียนขึ้นมาใหม่โดยไม่มีตัวแทนของประชาชนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะที่การทำประชามติเป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลฝ่ายเดียวและมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับฝ่ายที่เสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่ง

ทั้งนี้ คสช.มีอาศัยรัฐธรรมนูญเพื่อบิดเบือนการเลือกตั้งตั้งแต่ต้นนำ กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อรักษาฐานอำนาจ

นายอนุสรณ์กล่าวว่า อย่างไรก็ดี แม้รัฐธรรมนูญปัจจุบันจะมีปัญหาแต่การตระหนักรู้อาจจะยังจำกัด เพราะประชาชนจำนวนหนึ่งยังต้องอยู่กับปัญหาปากท้องเป็นหลัก ซึ่งเป็นผลจากการบริหารเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล ประกอบกับการเดินตามแนวคิดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่มองประชาชนเป็นเพียงผู้รอรับการสงเคราะห์ โดยเฉพาะนโยบาย รัฐสมคบทุนใหญ่และเจียดกำไรให้ทานคนจน เช่น โครงการประชารัฐ โครงการไทยนิยมยั่งยืน โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและโครงการชิมช้อปใช้ ที่อาจจะช่วยยืดระระเวลาการก่อตัวของวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ออกไปได้อีกระยะแต่สุดท้ายก็จะปะทุออกมา เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด จะเห็นได้จากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น หรือรวยกระจุกจนกระจาย ทั้งรายได้ การถือครองทรัพย์สิน และการถือครองที่ดิน เพราะปัญหาความยากจนไม่ใช่แค่จนรายได้ แต่เป็นเรื่องการจนสิทธิ จนอำนาจ จนโอกาส ในการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการดำรงชีวิตซึ่งหายไปจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

นายอนุสรณ์กล่าวว่า ครช.เรียกร้องให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ที่สะท้อนเจตนารมณ์และตอบสนองปัญหาของประชาชน ได้แก่

1. สวัสดิการพื้นฐานแบบถ้วนหน้า ทั้งสุขภาพ การศึกษา รายได้ การคมนาคม โดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดด้านเชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาวะ และอุดมการณ์ทางการเมือง

2. สิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ที่ดิน ป่าไม้ ทะเล การตั้งถิ่นที่อยู่อาศัย

3. การคุ้มครองการมีชีวิตให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ปราศจากมลพิษและสิทธิในการจัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของชุมชน

4. สิทธิในการแสดงออกและสิทธิในการชุมนุมไม่ใช่การต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐก่อนอย่างปัจจุบัน

5. การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

6. สิทธิการปกครองที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิต ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม สภาพเศรษฐกิจและลักษณะภูมิศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่น

7. การปรับปรุงแก้ไขกลไกและกระบวนการครอบงำสถาบันตัวแทนของประชาชน เช่น ระบบการเลือกตั้ง ส.ว. แผนยุทธศาสตร์ชาติ และคุณสมบัติของการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี

“ครช.จะสร้างความรู้ความเข้าใจ การตื่นตัว ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับสังคม โดยอยู่ระหว่างร่างพระราชบัญญัติการรับฟังและการดำเนินตามมติมหาชนที่มีต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยอาศัยมาตรา 133 คาดว่าจะแล้วเสร็จและจะเสนอผ่านทางประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวิปรัฐบาล และประธานวิปฝ่ายค้าน ในช่วงต้นปี 2563 ซึ่งจะนำไปสู่การรับฟังเสียงของประชาชนทั้งประเทศเพื่อแสดงให้เห็นถึงมติมหาชนที่ต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต่อไป เพราะในระบอบประชาธิปไตยอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน” นายอนุสรณ์กล่าว