ศูนย์วิจัยฯ นิติ มช. ดักคอรัฐบาล ย้ำ “การชุมนุมสาธารณะ” เป็นเสรีภาพไม่ใช่อาชญากรรม

วันที่ 13 ธันวาคม 2562 ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กทางการต่อกรณีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกมาประกาศจัดการชุมนุมแบบแฟลชม็อบในช่วงเย็นของวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2562 เพื่อแสดงออกความไม่เป็นธรรม หลังจาก กกต.มีมติเสียงข้างมาก ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคจากกรณีเงินกู้ โดยโพสต์ดังกล่าวระบุว่า

ลงสู่ท้องถนนมิใช่อาชญากรรม

การลงสู่ท้องถนนของประชาชนหรือ “การชุมนุมสาธารณะ” เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานอันสำคัญของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ในอันที่จะแสดงความเห็น ความปรารถนา หรือความต้องการของประชาชน ให้ปรากฏต่อสาธารณะ

การรับรองเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะปรากฏให้เห็นทั้งในกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญของนานาอารยะประเทศ รวมถึงรัฐธรรมนูญของไทยก็ได้รับรองเสรีภาพในการชุมนุม “อย่างสงบและปราศจากอาวุธ” มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ได้รับรองเสรีภาพดังกล่าว

ดังนั้น การชุมนุมสาธารณะจึงเป็นเสรีภาพที่สามารถเกิดขึ้นได้ในภาวะที่การเมืองสามารถดำเนินไปอย่างปกติท่ามกลางสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย ยิ่งในสังคมที่มีระบอบประชาธิปไตยถูกคุกคาม สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกละเมิดอย่างง่ายดายด้วยกลไกของรัฐ การชุมนุมสาธารณะก็ยิ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นต่อการสร้างสังคมการเมืองที่มีความเป็นธรรม

ในหลายสังคมหรือแม้กระทั่งสังคมไทยเองก็ตาม การชุมนุมสาธารณะคือกลไกหนึ่งของประชาชนเมื่อต้องเผชิญหน้ากับระบอบการเมืองอันฉ้อฉล ชนชั้นนำใช้อำนาจแบบอธรรม มีการใช้กฎหมายเพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของพรรคพวก ซึ่งในหลายครั้งก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้บังเกิดขึ้น

ทั้งนี้ การชุมนุมสาธารณะในสังคมไทยได้ถูกพิจารณาในเชิงลบภายหลังความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาร่วมทศวรรษ ที่สำคัญก็คือการชุมนุมของบรรดา “คนเป่านกหวีด” ก่อนการยึดอำนาจเมื่อ พ.ศ. 2557 พึงตระหนักว่าการชุมนุมสาธารณะในคราวนั้นมิใช่การชุมนุมที่อยู่ภายใต้กรอบของระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นการกระทำที่ปฏิเสธการเลือกตั้งอันเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แต่ให้การสนับสนุนต่อระบอบการเมืองแบบเผด็จการ ด้วยการเชิดชู “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” รวมทั้งการใช้ความรุนแรงต่อผู้คนที่เห็นต่าง อันเป็นต้นเหตุสำคัญที่นำมาสู่ความหายนะซึ่งสังคมไทยต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ในสังคมที่ระบอบการเมืองไม่เปิดโอกาสให้มีการต่อรอง แข่งขัน กันอย่างเสรีและเป็นธรรม รวมถึงการใช้กลไกทางกฎหมายและสถาบันต่างๆ เป็นเครื่องมือในการกำจัดผู้ที่เห็นต่างให้ออกไปตามอำเภอใจมาอย่างต่อเนื่อง

หนทางหนึ่งที่จะแสดงออกให้ผู้มีอำนาจได้เห็นอย่างเต็มตามากขึ้นว่าผู้คนมีความคิด ความฝัน ต่อสังคมของตนอย่างไรก็คือ การแสดงให้เห็นอย่างประจักษ์ว่าพวกเรายังมีตัวตนอยู่ในโลกของความเป็นจริง