‘หมอธีระวัฒน์’ หนุนปลดล็อกกระท่อม ชี้ กินแต่น้อย สู้งาน กระปรี้กระเปร่า ไม่ต้องเสพยาบ้า

หนุนปลดล็อก กระท่อม หมอธีระวัฒน์ชี้ พืชทรหด กินแต่น้อย สู้งาน กระปรี้กระเปร่า ไม่ต้องเสพยาบ้า

หมอธีระวัฒน์-ไบโอไทย หนุนปลดล็อก “กระท่อม” ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท5 ยัน เป็นพืชสมุนไพรให้ประโยชน์

จากกรณีที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เผยถึงแนวคิดการปลดล็อกพืช “กระท่อม” ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 โดยให้ข้อมูลว่าในต่างประเทศและองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ไม่ได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติด ซึ่งมีเพียงประเทศไทย พม่า และอาจจะมีลาวเท่านั้นที่ห้ามปลูก ห้ามเสพและจัดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติด ตนจึงคิดว่าไทยไม่ควรจะอยู่ในส่วนของกลุ่มประเทศเล็กๆ

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาลัยและฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับแนวคิดการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดว่า โดยความจริงแล้วกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติด แต่กฎหมายของไทยเป็นการจับแพะชนแกะและไม่ได้ใส่ใจว่าอะไรที่ควรใช้ได้หรือไม่ได้ ดังนั้นการปลดล็อกพืชกระท่อมเป็นเรื่องที่ถูกต้องและเห็นด้วย 100%

ใบกระท่อม

 

เมื่อถามว่า สธ.สามารถทำการปลดล็อกกระท่อมควบคู่กับกัญชาได้หรือไม่ นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วควรจะปลดล็อกได้ทั้ง 2 ตัวมาตั้งแต่แรกแล้ว แต่ยังคงติดปัญหาใน 2 ประเด็นคือ 1.กฎหมายของกรรมการยาเสพติด 2.กฎระเบียบของหน่วยงานของ สธ.เอง ตัวอย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นปัญหาที่ทาง อย.สร้างขึ้นมาโดยเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) 17 กุมภาพันธ์ 2562 ว่าด้วยเรื่องยาเสพติดให้โทษ ที่ระบุการใช้ว่าการใช้กัญชาจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ของทางการเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของประชาชนที่มีการใช้กัญชาในการรักษาโรคโดยตำหรับของภูมิปัญญาชาวบ้านอยู่แล้ว เนื่องจากเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ยาเสพติดและกัญชา ต้องการให้กัญชาใช้ทางแพทย์และสุขภาพโดยที่เข้าถึงชุมชนได้ทุกครัวเรือนในประเทศไทยและสามารถใช้ดูแลตัวเองได้

“ทางการมองหรือประณามกัญชาระดับของพื้นฐานชุมชนว่าเป็นกัญชาเถื่อน ถือว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง เพราะการใช้กัญชาของชุมชนนั้นเป็นการใช้ตามภูมิปัญญาของชาวบ้าน ซึ่งการใช้ทั้งรากกัญชา ช่อดอก ใบอ่อน ใบแก่ ทั้งต้นและราก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หมดไม่ว่าจะเป็นกัญชาสดหรือกัญชาป่า หรือทำเป็นน้ำชากัญชาได้ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้ในตัวของชุมชนเอง แต่ว่าการประกาศว่าเป็นของผิดกฎหมาย ห้ามใช้ เป็นการลิดรอนสิทธิ์ของประชาชนที่เจ็บป่วยที่ใช้กัญชาอยู่แล้วนั้นไม่สามารถเข้าถึงกัญชาได้ ซึ่งเดิมเคยเข้าถึงอยู่แล้วด้วยซ้ำ” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

เมื่อถามต่อว่า ผู้ดื่มน้ำกระท่อมแล้วจะมีโอกาสที่จะก่ออาชญากรรมได้หรือไม่ นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า มีการศึกษาผู้ที่ใช้กระท่อมในภาคเหนือ พบว่า กระท่อมเป็นพืชทรหด เนื่องจากผู้ใช้แรงงานที่ใช้กระท่อมในปริมาณน้อยแต่สามารถสู้งานได้ ทำงานได้อย่างกระปรี้กระเปร่า จึงสามารถใช้กระท่อมได้โดยไม่ต้องใช้ยาบ้า และมีการศึกษาต่อว่าเมื่อใช้กระท่อมแล้วนั้นผู้ที่ใช้นั้นจะหลีกหนีการใช้ยาบ้าไปเลยและสามารถตัดยาบ้าออกไปได้เลย

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

เมื่อถามว่า หากเรียกพืชกระท่อมต้มว่าเครื่องดื่มชูกำลังได้หรือไม่ และหากดื่มไปปริมาณมากจะส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่ นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า จะเรียกเครื่องดื่มชูกำลัง คล้ายๆ อย่างนั้นก็ได้ ส่วนเรื่องผลเสียนั้นในต่างประเทศมีการศึกษาวิจัยจนได้รับสิทธิ์บัตรกระท่อมไปแล้ว และมีการขายสินค้าที่ใช้ชื่อว่า กระท่อม ดังนั้นการขาดความรู้ทำให้มีออกกฎระเบียบมาและเป็นการตัดประโยชน์ของพืชกระท่อมไป

“การที่ทางการขาดความรู้และไม่ได้ลงไปดูว่าคนไทยที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ มีการใช้กระท่อมอย่างถูกวิธีมานานแล้ว ทำให้เราต้องตัดประโยชน์ทิ้ง ดังนั้นผู้ที่ใช้กระท่อมอย่างถูกวิธียังต้องหลบๆ ซ่อนๆ และเป็นช่องทางการถูกขูดรีดหรือการถูกจับถูกปรับไป” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ด้าน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี(ไบโอไทย) กล่าวว่า ทางไบโอไทยสนับสนุนเรื่องการปลดล็อกระท่อม ควรจะแยกกระท่อมออกจากยาเสพติด และเป็นความเห็นพ้องต้องกันจากหลายฝ่าย ผลจากการใช้กระท่อมด้านสุขภาพมีน้อยกว่ากัญชาอย่างเห็นได้ชัด และ สธ.ควรมีบทบาทเรื่องกระท่อมควบคู่กับกัญชาในการนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น

เมื่อถามว่ากระท่อมนอกจากช่วยเรื่องท้องร่วง ท้องบิดแล้วยังสามารถรักษาอาการใดได้อีก นายวิฑูรย์ กล่าวว่า สรรพคุณกว้างขวางมาก และกระท่อมเป็นตำหรับยาพื้นบ้าน โดยมีการใช้ในวิถีวัฒนธรรมมาช้านานทั้งในภาคใต้และภาคอื่นๆ โดยกระท่อมมีคุณสมบัติสำคัญคือเป็นยาระงับปวด หากมีการนำมาใช้ทดแทนได้ในทางการแพทย์สามารถคิดเป็นมูลค่าได้กว่า 5 แสนล้านบาทเป็นอย่างต่ำ ซึ่งกระท่อมสามารถนำมาทดแทนสารมอร์ฟีนได้ โดยมีผลข้างเคียงน้อยกว่า ขณะนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาด้านการวิจัย

“สธ.และกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ควรมีบทบาทเรื่องนี้มากขึ้น การที่เราเปิดโอกาสให้ใช้ประโยชน์อย่างเปิดเผย มีการควบคุมให้ความรู้ ดีกว่าเราจำกัดขังกรอบให้มันผิดกฎหมาย โดยทั้งกัญชาและกระท่อม ถ้าเราจัดการอย่างชัดเจนในการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรืออุตสาหกรรม ดีกว่าเราห้ามชาวบ้านไม่ให้ใช้อะไร เพราะทำอย่างนั้นจะยิ่งทำให้คนอยากเอาไปใช้ผิดมากขึ้นด้วยซ้ำ” นายวิฑูรย์กล่าว

เมื่อถามต่อว่าหากมีการเปิดให้ใช้อย่างอิสระมากขึ้นประชาชนก็อาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาและไม่อยากนำไปใช้ในทางที่ผิดหรือไม่ นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ถูกต้อง เนื่องจากถ้าถูกใช้อย่างเปิดเผย ก็จะมีการวิจัยพัฒนา การเรียนรู้จะเป็นตัวกำกับการใช้ประโยชน์เอง

“ในทางส่วนตัวของผมในตอนนี้อยากให้เปิดเป็นการใช้ทางการแพทย์หรืออุตสาหกรรมก่อนหรือในระดับครัวเรือนที่ควบคุมได้ก่อน มันก็จะเป็นสเต็ปไป แต่ว่าคือจะต้องเปิดมากว่านี้ แบบนี้ทางกฎหมายคือมีไว้ในครอบครองก็มีความผิด โดนจับ โดนปรับ อย่างกระท่อมเอาไปค้าขายก็จำคุก ก็โทษที่ค่อนข้างแรงเกินไปในพืชประเภทนี้” นายวิฑูรย์กล่าว