อุทธรณ์ยืนคุกตลอดชีวิต เล่าต๋า-เมีย ราชายานรก ประหารชีวิตลูกชาย

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนจำคุกตลอดชีวิต เล่าต๋า ประหารชีวิตลูกชาย ราชายาเสพติด ชี้คำอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น เป็นข้ออ้างลอย ๆ

วันที่ 12 ธันวาคม 2562 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดียาเสพติด 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายเล่าต๋า แสนลี่ อายุ 80 ปี นักค้ายาเสพติดระดับชาติ, นางอาส่าหม่า แสนลี่ อายุ 70ปี ภรรยา, นางรพีกาญจน์ หรือ จันทร์ฉาย หรือ ไก่ ภพเพชรลักษณ์ หรือ ทรายมูล อายุ 60 ปี, นายวิจารณ์ แสนลี่ อายุ 43 ปี ลูกชาย ซึ่งเป็นอดีตกำนัน ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และ นายบารมี บารมีเกื้อกูล อายุ 40 ปี ลูกชาย (ต่างนามสกุล) ทั้งหมดเป็นชาว จ.เชียงใหม่ เป็นจำเลยที่ 1-5  ความผิดฐานร่วมกันสมคบและร่วมกันจำหน่ายยาไอซ์ ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต, ความผิดพ.ร.บ.อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490

อัยการฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย.-11 ต.ค.2559 นายเล่าต๋า นางอาส่ามา และนางรพีกาญจน์ จำเลยที่ 1-3 มียาไอซ์ 1 ถุง หนักกว่า 900 กรัม ซึ่งนำมาจำหน่ายให้กับสายลับ ราคา 550,000 บาท ที่นายเล่าต๋า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อเจรจาซื้อขายยา

ส่วนนายวิจารณ์ และนายบารมี จำเลยที่ 4-5 เป็นผู้จัดหายาไอซ์ ชนิดผลึกสีขาว จำนวน 20 ถุง หนักประมาณ 19 กิโลกรัมเศษ จำหน่ายให้แก่สายลับที่เข้าล่อซื้อราคา 11 ล้านบาท โดยนายวิจารณ์ กับนายบารมี ยังทำหน้าที่คุ้มกันให้นายเล่าต๋า ระหว่างส่งมอบยาเสพติดด้วย ระหว่างถูกจับกุมนายเล่าต๋า จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนสั้นและปืนยาว รวม 2 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุนจำนวนมาก

เหตุเกิดที่ปั๊มน้ำมัน “เล่าต๋า ปิโตรเลียม” เลขที่ 137 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และที่อื่นเกี่ยวพันกัน ชั้นสอบสวนนายเล่าต๋าและนางอาส่าหม่า ภรรยา ให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเท่านั้น ข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ ขณะที่นางรพีกาญจน์ ให้การรับสารภาพโดยตลอด ส่วนนายวิจารณ์ รับสารภาพเฉพาะข้อหากระทำผิดพ.ร.บ อาวุธปืนฯ และนายบารมีให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2560 ว่า จำเลยที่ 1-5 กระทำผิดตามฟ้องทั้ง 2 กรรม ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต ปรับ 5 ล้านบาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพลดโทษ ในกรรมแรก (99กรัม) จำคุก 25 ปี กรรมที่ 2 (19กก.) ให้จำคุกตลอดชีวิตรวมเเล้วคงจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 2.5 ล้านบาท เเก่จำเลยที่ 1

ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 5 ล้าน รับสารภาพเหลือ 25 ปี ปรับ 2.5 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่ 3 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 5 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่ 4 ให้ประหารชีวิต และฐานพาอาวุธปืน ปรับ 1,000 บาท การที่จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานของรัฐให้บวกโทษจำคุกอีก 3 เท่า เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้ว จึงไม่อาจบวกโทษให้สูงไปกว่านี้ได้ ส่วนจำเลยที่ 5 ให้ประหารชีวิต

ต่อมาจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ศาลลดโทษ และจำเลยที่ 3, 4, 5 อุทธรณ์ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิด ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ยอมรับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โดยวันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัว นายเล่าต๋า, นายวิจารณ์, นายบารมี จากเรือนจำกลางบางขวาง ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง และนางรพีกาญจน์ จากทัณฑสถานหญิงกลาง จำเลยทั้งหมดเพื่อมาฟังคำพิพากษา นายเล่าต๋ามีสีหน้าหมองคล้ำ ซูบผอม ส่วนจำเลยอื่นพูดแต่ภาษาจีนกับญาติที่มาฟังคำพิพากษา

ศาลอุทธรณ์ประชุมองค์คณะปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ขอให้ลดโทษโดยให้ลงโทษสถานเบา แต่มีข้อกฎหมายป.วิอาญามาตรา 245 วรรคสอง เป็นบทบังคับให้ศาลชั้นต้นต้องส่งคำพิพากษาคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในเนื้อหาการกระทำอีกครั้งว่า จำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ แม้จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ในเนื้อหา คดีจึงต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 1, 3, 4 และ 5 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่

เห็นว่า เมื่อระหว่างเดือนเม.ย.-ต.ค.2559 ตำรวจชุดจับกุมและเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. สืบทราบว่า จำเลยที่ 3 เป็นเครือข่ายจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เป็นนายหน้าหาลูกค้ามาให้ โดยกินค่านายหน้าเป็นเปอร์เซนต์กันมานาน จึงวางแผนให้ ด.ต.หญิง (ขอสงวนชื่อและนามสกุล) ปลอมตัวเป็นสายลับ ไปเจรจาขอซื้อยาไอซ์สีขาวจำนวน 949.55 กรัม ราคา 5.5 แสนบาทในเดือนต.ค.2559 ที่สถานีบริการน้ำมันเล่าต๋า ตั้งอยู่ที่ ม.12 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

และจำเลยที่ 3 พาไปรู้จักกับนายเล๋าต๋า ตกลงซื้อขายกันโดยส่งมอบธนบัตรที่ทำตำหนิประกอบกับเจ้าหน้าที่มีการวางแผนการจับกุม บันทึกภาพขั้นตอนการซื้อขายเป็นลำดับ เมื่อซื้อขายกันรอบแรกแล้ว วันที่ 11 ต.ค.2559 ด.ต.หญิงสายลับจึงทำทีขอซื้อยาไอซ์จำนวนที่ 2 หนัก 18.8 กก. ราคา 11 ล้านบาท

เจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลัง บริเวณสถานีบริการน้ำมัน พบว่านายเล่าต๋าจะนั่งอยู่ที่เดิม มีจำเลยที่ 4 กับ 5 ยืนคุมเชิงอยู่บริเวณลานจอดรถ เมื่อทำการซื้อขายกัน ตำรวจก็บันทึกภาพไว้ โดยจำเลยที่ 1 บอกให้ไปเอายาไอซ์ในถุงที่วางไว้ข้างต้นไม้ หน้าสำนักงานของสถานีติดกับร้านกาแฟสด จำเลยที่ 4 กับ 5 ได้เดินตามประกบสายลับมา และโบกรถให้เข้ามาจอดเพื่อรอรับเงินค่ายาไอซ์

ด.ต.หญิง จึงแสดงตัวเข้าจับกุมตัวได้พร้อมยาไอซ์ ขณะนั้นนายเล่าต๋านั่งอยู่หน้าร้านกาแฟภายในสำนักงานของสถานีบริการน้ำมันเพื่อกำกับดูแลการค้าขาย ตำรวจจึงเข้าจับนายเล่าต๋าเเละได้พาไปค้นที่รถพบอาวุธปืน โดยจำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวน 

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานโจทก์เจ้าพนักตำรวจมีการวางแผนติดตามเฝ้าดูพฤติกรรมของกลุ่มนายเล่าต๋ามานาน จนวางแผนเป็นขั้นตอน ประกอบกับไม่เคยรู้จักหรือโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุกลั่นแกล้ง ข้อต่อสู้ของพวกจำเลยเกี่ยวกับอาวุธปืน เป็นข้ออ้างลอยๆ ศาลเชื่อว่าเป็นปืนที่ใช้คุมกันการค้ายาเสพติด

ส่วนที่จำเลยที่ 3 เคยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน ต่อมาอ้างว่าตนเป็นเพียงแม่ค้าผลไม้ ที่รับไปเพราะถูกนายตำรวจใหญ่บอกว่าจะกันเป็นพยาน ล้วนแต่เป็นคำกล่าวอ้างลอยๆ และไม่ถือรับเอาประโยชน์แห่งคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นเหตุบรรเทาโทษ กลับแสดงว่าเป็นการรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐาน แม้พยานโจทก์บางส่วนเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อมีความน่าเชื่อถือมีเหตุผลน่ารับฟัง เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์จึงเชื่อว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงพิพากษายืน ตามศาลชั้นต้น