‘สุริยะ’คลอด 3 มาตรการทรานส์ฟอร์มเอสเอ็มอีสู้ศึกยุคแข่งขันเดือด

‘สุริยะ’คลอด 3 มาตรการทรานส์ฟอร์มเอสเอ็มอีสู้ศึกยุคแข่งขันเดือด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งทำมาตรการและกลไกส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตามนโยบายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 3 ด้านหลักให้เป็นรูปธรรม คือ เกษตรอุตสาหกรรม , ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น และครีเอทีฟอีโคโนมี เนื่องจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้มแข็ง โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก เพราะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า กระจายรายได้สู่ชุมชน เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ สุดท้ายจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวอย่างยั่งยืน

“ขณะนี้ กสอ.กำลังเร่งจัดทำรายละเอียดของ 3 มาตรการ รวมทั้งออกแบบกลไก เพื่อให้ผู้ประกอบการเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการสนับสนุน ส่งเสริมให้พี่น้องผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยเติบโตและแข็งแกร่งอย่างอย่างยั่งยืน ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจที่ดุเดือดในยุคการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว หรือดิสรัปชั่นนี้”นายสุริยะกล่าว

นายสุริยะกล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อนให้เห็นเป็นรูปธรรมในส่วนของการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม กสอ.จะปรับบทบาทศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ภาคที่ 1 ไปจนถึงภาคที่ 11 ให้เน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ทำเกษตรอุตสาหกรรม ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ให้ยกระดับจากการทำเกษตรแบบเดิมไปสู่การเป็นเกษตรกรอัจฉริยะยุคใหม่ หรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ อาทิ นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจการเกษตรอย่างครบวงจร รวมทั้งการสร้างระบบนิเวศ เพื่อให้เกิดธุรกิจการให้บริการด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรที่ไม่ได้ทำเกษตรแปลงใหญ่ เข้าถึงการรับบริการด้านการเกษตรที่ตรงกับความต้องการ มีประสิทธิภาพ และราคาที่เหมาะสม

นายสุริยะกล่าวว่า ส่วนการสร้างดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น จะสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและบริษัทสตาร์ตอัพคนไทย กระตุ้นให้ใช้แอพพลิเคชั่น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้บริหารจัดการธุรกิจในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาจากบริษัทสตาร์ตอัพคนไทย ซึ่งกสอ.จะเป็นสื่อกลางให้บริษัทสตาร์ทอัพได้มาพบปะกับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นเครือข่ายกว่า 90,000 ราย เป็นฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ของบริษัทสตาร์ตอัพเหล่านี้ต่อไป ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งเอสเอ็มอี ที่นำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ และกลุ่มสตาร์ตอัพที่เติบโตและขยายฐานลูกค้าได้รวดเร็ว

นายสุริยะกล่าวว่า ขณะที่การพัฒนาครีเอทีฟอีโคโนมี จะร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ด้วยการให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาในพื้นที่ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ กล้าคิดนอกกรอบ จัดทีมเข้ามาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มีความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น อาทิ ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์ สร้างเรื่องราวให้น่าสนใจ ควบคู่กับการนำศาสตร์วิศวกรรมและการบริหารจัดการมาช่วยเติมเต็มศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท้องถิ่น ยกระดับรายได้ให้พี่น้องในชุมชน และที่สำคัญสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาคนรุ่นใหม่ ได้มีเวทีในการใช้วิชาชีพที่ได้เล่าเรียนมาลงมือปฏิบัติงานจริง เห็นผลลัพธ์จริง เป็นการสร้างบุคลากรของไทยให้สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้