“หม่อมเต่า” ยันค่าจ้างขั้นต่ำ 5-6 บาท เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ เผยมีตำแหน่งว่าง 5.6 หมื่นอัตรา รอ!

ความคืบหน้ากรณีการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2562 ครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 20 มีมติให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำนวน 6 บาท ใน 9 จังหวัด และ 5 บาท ในอีก 68 จังหวัด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ต่อมา นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) วิพากษ์วิจารณ์การปรับขึ้นเพียงแค่ 5-6 บาท ภาคแรงงานไม่มีใครพอใจ เพราะได้แค่มาม่าห่อเดียว พร้อมทั้งทวงถามถึงนโยบายรัฐบาลที่หลายพรรคการเมืองเคยหาเสียงช่วงเลือกตั้งว่าจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงถึง 425 บาท นั้น

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หากย้อนไปดูตัวเลขอัตราค่าจ้างเดิมก่อนหน้านี้ที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัด ซึ่งมีกรรมการในส่วนของลูกจ้างร่วมเสนอด้วย จะพบว่ามีถึง 46 จังหวัดที่ไม่ขอขึ้นค่าจ้าง ด้วยเหตุผลว่าเกรงจะถูกเลิกจ้าง แต่เมื่อตัวเลขเข้ามาในที่ประชุมบอร์ดค่าจ้าง ได้มีการให้นำกลับไปทบทวนใหม่ ซึ่งล่าสุดบอร์ดค่าจ้าง ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีมีทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้างก็ได้สรุปตัวเลขให้ขึ้นทั่วประเทศในอัตรา 5-6 บาท

“แม้ผมไม่ได้ร่วมพิจารณาในบอร์ดค่าจ้าง แต่ผมก็ทราบข้อมูลนี้ว่าทั้งหมดได้พิจารณาตามสภาพเศรษฐกิจที่ควรจะเป็น ไม่กระทบกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมากจนเกินไป และเรื่องนี้ทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างก็ได้ตกลงรับทราบร่วมกันแล้วในที่ประชุม ซึ่งเท่าที่ทราบก่อนจะมีมติวันนั้น มีประมาณ 10 จังหวัด ที่จะไม่ได้ขึ้นค่าจ้างด้วยซ้ำ แต่ที่ประชุมก็ได้ถกเถียงด้วยเหตุและผลจนได้ข้อสรุปดังกล่าว” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มติดังกล่าวอาจจะทำให้ฝ่ายลูกจ้างไม่พอใจ และอาจนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะก่อนหน้านี้พรรคการเมืองได้หาเสียงว่าจะขึ้นค่าจ้างให้ถึง 425 บาท ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ช่วงที่มีการหาเสียง หลายพรรคได้เสนอตัวเลขที่สูงแต่หากจำกันได้ ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศนโยบายต่างๆ ได้มีการเรียกทุกพรรคหารือกัน และเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่หารือว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ จนในที่สุดก็สรุปออกมาเป็นนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ประเด็นของผู้ใช้แรงงาน เรื่องค่าจ้าง รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกำลังหาทางช่วยเหลือทุกด้าน และหลายกระทรวงกำลังทำงานกันอย่างหนัก

“แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในภาพรวม หากมีการขยับมากก็จะกระทบกับผู้ประกอบการ วันนี้ ก็ได้มีการดูแลให้ทุกฝ่ายสามารถประคับประคองให้ผ่านพ้นไปได้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ถึงกับดีมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแย่” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวและว่า ขณะนี้การปรับขึ้นค่าจ้าง 5-6 บาท ก็มีแนวโน้มว่าอาจจะมีการปิดกิจการและผู้ใช้แรงงานจะตกงานเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของกระทรวงแรงงานขณะนี้คือ ได้มีการสำรวจพบว่ามีงานว่างอีก 56,000 อัตรา ที่สถานประกอบการแจ้งไว้กับกระทรวงแรงงานกำลังรอให้ผู้ที่ประสงค์จะทำงานเข้าไปทำ แต่วันนี้ยังไม่มีใครไปสมัคร และหากรายใดไม่มีทักษะฝีมือจะมีการจัดฝึกอบรมให้สามารถทำงานได้ เพราะขณะนี้ศูนย์ฝึกอบรมที่มีกระจายอยู่ 20 แห่งทั่วประเทศ เตรียมพร้อมในเรื่องนี้ และผู้ที่สนใจให้ติดต่อสายด่วน 1506

ด้านนายสุชาติ ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งชาติ ในฐานะกรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจนนายจ้างรับภาระไม่ไหว ก็จะส่งผลกับแรงงานและภาวะการตกงานเพิ่มขึ้น ในการพิจารณาจึงจะได้คำนึงถึงว่า นายจ้างอยู่ได้ ลูกจ้างก็อยู่ได้

เมื่อถามว่า ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลให้มีการนำหุ่นยนต์แรงงานมาใช้แทนแรงงานมนุษย์ นายสุชาติ กล่าวว่า การใช้หุ่นยนต์เป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุค 4.0 ดังนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการกำหนดมาตรฐานและควบคุมการใช้หุ่นยนต์แรงงาน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับแรงงานมนุษย์

ต่อข้อถามว่า ปรับค่าจ้างขั้นต่ำถึง 425 บาท เป็นเรื่องที่เป็นไปได้หรือไม่ในอนาคต นายสุชาติ กล่าวว่า ถ้าถามในขณะนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ส่วนในอนาคตเป็นเรื่องของคณะกรรมการชุดต่อไป เพราะคณะกรรมการชุดนี้จะหมดวาระในเดือนกุมภาพันธ์นี้

เมื่อถามว่า จะมีลูกจ้างออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องหรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า ไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างแน่นอน เพราะผู้แทนในบอร์ดค่าจ้าง ก็มีกรรมการจากฝ่ายลูกจ้างร่วมอยู่ด้วย ก่อนจะลงมติก็มีการพูดคุยกันแล้วเพื่อตกลงกันเรื่องตัวเลขกันก่อนยื่นในที่ประชุม

“เรื่องขึ้นถึง 425 บาท อย่ามาคุยเลย ขนาดขึ้น 5-6 บาท ครั้งนี้จะผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือเปล่ายังหนาวอยู่เลย เพราะวันที่เถียงกันนัดสุดท้าย ผมต้องยอมทะเลาะกับฝ่ายวิชาการจากหน่วยงานของรัฐ ผมหักพร้าด้วยเข่า เพราะจริงๆ เขาจะไม่ให้ขึ้น 10 จังหวัด ผมก็บอกว่า ไม่ได้ คุณจะผลักดันเป็นประชาชนชั้นสอง คุณทำแบบนั้นไม่ได้ ทั้งหมด 77 จังหวัด คุณขึ้นมา 60 กว่าจังหวัดแล้ว อีก 10 จังหวัด คุณจะไม่ให้ขึ้นได้ยังไง ผมก็ไม่ยอม จนในที่สุดก็ยอมผม และให้ขึ้น 5-6 บาท และผมกำชับแล้วว่าจะต้องขึ้นให้ทันวันที่ 1 มกราคมนี้” นายสุชาติ กล่าว

วันเดียวกัน นายสมพร ให้สัมภาษณ์ว่า การที่ คสรท.เรียกร้องกรณีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ก็เพื่อให้รัฐบาลออกมาชี้แจงว่าเหตุใดจึงมีการปรับขึ้นเพียง 5-6 บาท ซึ่งไม่ตรงกับนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) เป็นผู้นำพรรค

“จะมีการปรับขึ้นเท่าไรนั้นเป็นเรื่องที่มีมติในที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างแล้ว ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะเป็นการตกลงจากทุกฝ่าย แต่รัฐบาลจะต้องอธิบายว่าเพราะเหตุใดจึงทำได้เพียงเท่านี้ และจะทำตามที่ให้นโยบายไว้ได้หรือไม่ รวมไปถึงอธิบายขั้นตอนการดำเนินงานว่าจะมีขั้นตอนอย่างไรต่อไปในการปรับค่าแรงให้ถึงตามที่กล่าวไว้ในนโยบายหาเสียง เพราะหากทำไม่ได้แล้ว ก็จะเข้าข่ายการหลอกลวงประชาชน” นายสมพร กล่าว

เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะมีการเดินหน้าเรียกร้องอย่างไร นายสมพร กล่าวว่า คสรท. มีข้อเรียกร้องกับรัฐบาลอยู่แล้ว 4 ประเด็น คือ 1.การปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่หาเสียงไว้ว่าทำไมไม่เป็นไปตามนโยบายพรรค 2.เขตค่าจ้างแต่ละพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำ ต้องการให้มีหลักเกณฑ์ชัดเจนในการกำหนดค่าความต่างของแต่ละพื้นที่ 3.ประกันสังคมของแรงงาน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีแนวคิดในการนำกองทุนไปปล่อยกู้ เนื่องจากทางผู้ใช้แรงงานไม่ไว้วางใจ และจะต้องติดตามเงินที่ค้างจ่ายกว่า 80,000 ล้านบาท ที่เป็นเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 4.การที่ประเทศไทยถูกสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางการค้า GSP (จีเอสพี) ทำไมทางรัฐบาลถึงออกมาชี้แจงว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งทาง คสรท.มองว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะต้องดำเนินการแก้ไข