สรรพากรเร่งขยายฐานภาษีดึงบุคคลธรรมดา 3 ล้าน -นิติบุคคล 2 แสนรายเข้าระบบ มั่นใจปีงบ 63 รายได้ 2.116 ล้านล.

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรกำลังพยายามขยายฐานภาษี เพื่อให้กลุ่มธุรกิจและคนไทยเข้าสู่ระบบภาษีที่ถูกต้อง โดยพบว่าเมื่อปี 2561 จำนวนคนที่อยู่ในฐานภาษีเงินได้บุคลธรรมดาอยู่ที่ 10 ล้านคน พอในปี 2562 จำนวนคนที่อยู่ในฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มขึ้นอีก 1.7 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นราว 10 % แต่จากการสำรวจโดยกรมสรรพากร พบว่ายังมีบุคคลธรรมดาที่อยู่นอกฐานภาษีอีกราว 3 ล้านคน ซึ่งกรมสรรพากรวางแผนดึงกลุ่มคนดังกล่าวทั้ง 3 ล้านคนดังกล่าวเข้าสู่ฐานภาษีทั้งหมด โดยวางเป้าหมายให้เข้าสู่ฐานภาษีปีละ 1 ล้านคน เพื่อสร้างความเป็นธรรมดาในระบบภาษี

นางสมหมาย กล่าวต่อว่า สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น มีนิติบุคคลที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ราว 6 แสนราย แต่อยู่ในฐานภาษี 4 แสนกว่าราย ดังนั้นยังมีอีก 2 แสนรายที่ยังไม่เข้าสู่ระบบภาษี ซึ่งกรมจะเร่งให้กลุ่มที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบในช่วงนี้ ยืนยันว่าจะไม่ตรวจสอบย้อนหลัง

“ก่อนหน้านี้การอยู่นอกระบบภาษีทำให้กรมไม่มีข้อมูลตรวจสอบย้อนหลัง แต่ในเร็วๆนี้ ฐานข้อมูลของกรมจะสามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลภายในและภายนอกได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งถึงเวลานั้นการตรวจสอบภาษีจะเข้มข้นขึ้น”นางสมหมายกล่าว

นางสมหมายกล่าวต่อว่า ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) กรมกำลังรอร่างกฎหมายเก็บจากกลุ่มค้าออนไลน์หรืออีบิสซิเนส ซึ่งจะทำให้กลุ่มผู้ประกอบการออนไลน์ ที่อยู่ในต่างประเทศที่มาทำการค้าในประเทศจะต้องจดทะเบียนแวตด้วย ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

นางสมหมายกล่าวต่อว่า ในปีงบ 2563 กรมสรรพาถูกกำหนดจากรัฐบาลให้จัดเก็บภาษี 2.116 ล้านล้านบาท ซึ่งกรมยังมั่นใจว่าจะสามารถเก็บได้ตามเป้าหมายนี้ โดยผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2562 ที่สิ้นสุดไปเมื่อ 30 กันยายนนี้ว่า กรมสามารถจัดเก็บได้ 2.009 ล้านล้านบาท เกินกว่าเป้าหมายในเอกสารงบประมาณ 9.14 พันล้านบาท หรือ เกินกว่าเป้าหมาย 0.5 % ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ระบบฐานข้อมูล( data analytic) เช่น บริษัท A ยื่นภาษีมา 10 ล้านบาท แต่เมื่อกรมตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าวมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 12 ล้านบาท เท่ากับว่ายังยื่นขาดไว้ 2 ล้านบาท ดังนั้นกรมขอให้บริษัทดังกล่าวมายื่นเสียภาษีเพิ่มเติม โดยไม่มีการลงโทษ เพราะถือว่าเป็นขั้นตอนการตรวจแนะนำของกรมสรรพากร

นางสมหมายกล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการบัญชีเล่มเดียวที่กรมดำเนินการไปในช่วงปีงบประมาณที่ผ่านมา โดยเปิดให้ธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ยื่นปรับปรุงบัญชีใหม่โดยไม่เสียค่าปรับและเงินเพิ่ม แต่ต้องยื่นเสียภาษีในระบบอินเตอร์เน็ต( e-filing )เป็นเวลา 12 เดือน มาตรการดังกล่าวทำให้กรมได้รับเม็ดภาษีเพิ่มเติมจากการยื่นปรับปรุงบัญชีประมาณ 3 พันล้านบาท