“มาดามเดียร์”แนะ”ปรับโครงสร้างการศึกษาไทย” เน้นคิดวิเคราะห์ ควบคู่สอนทักษะทางอารมณ์ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม

“มาดามเดียร์”แนะ”ปรับโครงสร้างระบบการศึกษาไทย”รับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เน้นคิดวิเคราะห์ นำไปสู่การทำงานในอนาคต ควบคู่กับการสอนทักษะทางอารมณ์ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม ชี้ การแก้ปัญหาประเทศต้องรับฟังทุกเสียงวิจารณ์ แต่การเปลี่ยนแปลงต้องมีแผนรองรับ และพิจารณาผลรอบด้านแล้ว

น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ร่วมเวทีสนทนาสาธารณะ “Youth Engagement คนรุ่นใหม่กับการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ” ซึ่งจัดโดยคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ นักการเมืองรุ่นใหม่ ร่วมสนทนาด้วย

น.ส.วทันยา กล่าวถึงประเด็นการศึกษาของเด็กไทยที่กำลังเผชิญอยู่โดยเฉพาะการไม่ถูกสอนให้คิด วิเคราะห์ ตกตะกอน และความเหลื่อมล้ำของการศึกษา โดยยอมรับว่า การศึกษาไทยยังมีอันดับห่างไกล หรือค่อนข้างรั้งท้าย ถ้าเทียบกับการศึกษาโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมาทุกยุคทุกสมัย ดังนั้นเห็นว่าแนวทางการแก้ไขหลักๆ คือ ตัวกระบวนการเรียนรู้และการเรียนการสอน ในขณะที่โลกปรับเข้าสู่เทคโนโลยี เราก็ต้องพัฒนาวิธีการศึกษาในไทยใหม่ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง ขณะที่บุคคลากรอย่าง ครู อาจารย์ ที่เป็นคนสอน ยังไม่ได้รับการดูแลด้านสวัสดิการและความก้าวหน้า ถ้าต้องสอนให้เก่ง แต่ครูไม่มีคุณภาพ จะสอนให้มีคุณภาพได้อย่างไร นอกจากนี้การวางโครงสร้างระบบการศึกษาในการบริหารจัดการ รัฐต้องลดบทบาทผู้คุมกฎเป็นผู้สนับสนุนและช่วยเหลือ ส่วนหน่วยงานสามารถดีไซน์งานของตัวเอง

น.ส.วทันยา กล่าวด้วยว่า ตนเองเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมากับระบบการศึกษาไทย และมีปัญหากับความคิดของโรงเรียนไทยเสมอโดยเฉพาะขอสอบในลักษณะที่ให้เราแสดงความเห็น แต่เมื่อแสดงความเห็นออกไปอาจารย์บอกว่าผิด ทั้งที่การแสดงความเห็นไม่ควรมีผิดหรือถูก จึงเลือกส่งลูกเรียนในโรงเรียนนานาชาติ
เพราะเราชื่อว่าถ้าปล่อยให้เด็กได้คิด มันสามารถนำไปใช้ในการทำงานจริง เพราะการทำงานต้องการคนที่ทักษะเหล่านี้ เพื่อสร้างสรรค์และแก้ปัญหาการงาน ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่หลักการเรียนการสอนต้องปรับ โดยเฉพาะปรับให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี ปรับให้สถานศึกษา มหาวิทยาลัย สามารถดีไซน์หลักสูตรการเรียนการสอนของตัวเอง ซึ่งภาครัฐต้องให้ความสำคัญ รวมถึงสวัสดิการและการประเมินบุคลากรทางการศึกษา โดยต้องแก้แบบองค์รวมไปพร้อมๆกัน

ซึ่งจุดนี้ภาครัฐต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขเพราะ โครงสร้างของระบบและกระทรวงศึกษาธิการอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐบาล แต่รัฐบาลคงทำโดยลำพังไม่ได้ ส่วนสำคัญที่สุดคือ เสียงเยาวชน นักเรียน และนักศึกษา ในการสะท้อน ส่งเสียง เพื่อให้เกิดการแก้ไข อย่างเป็นรูปธรรรม เพราะช้าเท่าไหร่ประเทศก็จะยิ่งเสียโอกาสประเทศไปมากเท่านั้น

“วันนี้กระบวนการศึกษาไทย มักพูดถึงในเรื่องของการจะสร้างนักศึกษาอย่างไรให้มีความสามารถในการแข่งขัน ประกอบอาชีพและหารายได้ในอนาคต แต่เราไม่เคยถกเถียงเรื่องการศึกษาที่จะช่วยเสริมทักษะในเรื่องอารมณ์ให้นักศึกษาที่เขาจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่ที่เพียงพอ เป็นผู้นำ และเป็นผู้ตาม และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งจุดนี้เราต้องคำนึงไปพร้อมๆกัน” น.ส.วทันยากล่าว

น.ส.วทันยา ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมว่า เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมกันปลูกฝังจิตสำนึกและช่วยแก้ปัญหาไปด้วยกัน อย่างปัญหาคุณภาพของสภาพอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm 2.5 เป็นปัญหาที่คนไทยกำลังตื่นตัว เพราะสาเหตุของปัญหานั้นมีทั้งจากยานพาหนะและควันจากการเผาไหม้ ซึ่งภาครัฐก็พยายามแก้ไขปัญหาโดยการควบคุมการเผาแต่เราก็ยังพบกับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้คือจากประเทศเพื่อนบ้าน อีกปัจจัยหนึ่งคือสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ป่าและพื้นที่สีเขียวที่เคยเป็นปอดคอยดูดซับฝุ่นพิษก็หายไป ดังนั้นการแก้ปัญหาคือสร้างอาชีพให้ชาวบ้านเพื่อลดการบุกล้ำพื้นที่ป่า

นอกจากนี้การบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาควรจะต้อง บูรณาการร่วมในการทำงานให้เป็นหนึ่ง โดยมีหน่วยงานกำกับดูแลโดยตรงไม่เพียงแต่แก้เฉพาะหน้าปีต่อปี นอกจากนี้ยังมีเรื่องการร่างกฎหมาย เช่น กฎหมายอากาศสะอาดที่จะมีการยื่นเข้าสู่สภาเร็วๆนี้

น.ส.วทันยา กล่าวว่า ส่วนตัวเข้ามาการเมืองเพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ยิ่งเมื่อได้เป็น ส.ส. ไปลงพื้นที่ ไปคลุกคลีกับชาวบ้าน ได้เห็นปัญหา ยิ่งทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ว่าเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไรให้เขาได้บ้าง ยอมรับว่า ประเทศเราในทุกปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการเมือง การจะแก้ปัญหาจึงต้องแก้แบบองค์รวมพร้อมกันทุกมิติ แก้ปัญหาเชิงระบบและแก้ที่จิตสำนึกของแต่ละบุคคล เรื่องใดถูกต้อง ควรทำ หรือ ควรแก้ไข ก็คงต้องมองประชาชนเป็นอันดับแรก

“การที่เราจะคิดแก้ปัญหาให้ประเทศ และพัฒนาประเทศเดินไปข้างหน้าทุกๆเสียงวิจารณ์ ทุกโมเดลของต่างประเทศ เป็นเรื่องที่ต้องรับฟังและศึกษา แต่ทุกประเทศมีรากเหง้าต่างกันไป ดังนั้นคงไม่สามารถคัดลอกแบบใดแบบหนึ่งมาใช้ได้โดยทันที แต่ต้องหาสิ่งที่เหมาะสมให้ประเทศ ในทุกๆข้อเสนอ ทุกประเด็น แม้แต่การเสนอยกเลิกเกณฑ์ทหาร เป็นสิ่งที่ดีในกระบวนการประชาธิปไตย การวิจารณ์ การนำเสนอความเห็น ทุกอย่างเป็นไปได้ แต่อยู่บนจุดที่เราพิจารณาอย่างครบถ้วน รอบด้าน แล้วหรือยัง การแก้ไขเปลี่ยนแปลง ย่อมเกิดผลกระทบทุกด้าน ดังนั้นต้องมีแบบแผนรองรับการเกิดขึ้นได้จริง และสัมฤทธิ์ผลไม่ใช่วนกลับไปที่เดิม” น.ส.วทันยากล่าว

น.ส.วทันยา ตอบคำถามเกี่ยวกับสื่อออนไลน์กับการเปลี่ยนแปลง ว่า สื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางสร้างสรรค์และทำลาย จึงเป็นเรื่องที่เราต้องมาช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรให้เรารู้เท่าสื่อออนไลน์ เพราะทุกวันนี้เวลาเราจะหาข้อมูลก็แค่ค้นหาในออนไลน์ได้ทั้งหมด แต่ข้อมูลเหล่านี้ต้องถูกตรวจสอบให้ถูกต้องก่อนเลือกเชื่อ ไม่ใช่รับฟังจากข้อมูลเพียงบ้างส่วนหรือแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ต้องพึงระวัง ต้องหาข้อมูลให้ครบถ้วน และรอบด้าน

น.ส.วทันยา กล่าวด้วยว่า ในประเด็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาครัฐต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนและขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ซึ่งส่วนตัวอยู่ใน กมธ.การเงินการคลังฯ เราก็ตั้งใจจะนำเสนอเรื่องเหล่านี้ไปสู่รัฐบาล เพื่อให้ดำเนินการ ส่วนประเด็นผูกขาดของทุนรายใหญ่นั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วยไม่อยากให้เกิดทุนผูกขาด ซึ่งโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP โดยตัวระบบกับการขับเคลื่อนการลงทุน โครงการ PPP มีแนวโน้มใช้เพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เป็นระบบที่ดี แต่ปัญหาในแง่การปฏิบัติอาจทำให้เกิดการผูกขาดเอกชนบางรายก็ต้องไปแก้ให้ตรงจุด