“ธีระชัย”ตั้งข้อสังเกต อนุมัติโรงไฟฟ้ากระบี่โยงดีล“ปตท.-กฟผ.-แม้ว”ถอนทุนเหมืองถ่านหิน

(17 ก.พ.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงประเด็นการดำเนินการโรงงานไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดที่ อ.เทพา จ.สงขลา และอ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ความว่า

ถ้าจะเข้าใจบริบทด้านธุรกิจของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่/เทพา ก็ต้องดูย้อนหลังว่า ยักษ์ใหญ่คนไทยเข้าไปยุ่งกับธุรกิจนี้เมื่อใด

ปตท. ซื้อเหมือง ปี 2555
ข่าวคุณทักษิณเจรจาซื้อเหมือง ปี 2556
กฟผ. ซื้อเหมือง ปี 2559

ภาพแรกแสดงราคาถ่านหินตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) จะเห็นได้ว่าราคาพุ่งขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในช่วงปี ค.ศ. 2005-2010 (พ.ศ. 2548-2553) จากระดับ 30-40 ดอลลาร์ต่อตัน ขึ้นไปสูงสุดถึงกว่า 120 หลังจากนั้นก็อ่อนตัวลงมาเรื่อย

ปี 2555 ที่ ปตท. ซื้อเหมือง อยู่ที่ระดับ 90-100
ปี 2556 ที่คุณทักษิณเจรจา อยู่ที่ระดับ 80-90
ปี 2559 ที่ กฟผ. ซื้อเหมือง อยู่ที่ระดับ 70-80

ถามว่าทำไมคนไทยจึงสนใจซื้อเหมืองถ่านหิน?
ตอบว่าเป็นเพราะฝันหวานอยู่กับตัวเลข 120 ดอลลาร์ต่อตัน พวกนี้มั่นอกมั่นใจว่า ราคาจะกลับขึ้นไปเกิน 120 เหมือนเดิม

ถามว่าคนไทยที่ซื้อเหมืองถ่านหิน มาถึงวันนี้ดีใจหรือเสียใจ?
ตอบว่าสถานการณ์จุกคอหอย ภาษานักเล่นหุ้น เรียกว่า “ติดยอดดอย”
ภาพที่สองแสดงแนวโน้มราคาถ่านหินระยะยาว ประเมินโดยธนาคารโลก จะเห็นได้ว่า อยู่ระดับเพียงไม่เกิน 60
ภาพที่สาม ประเมินโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อยู่ระดับเพียงไม่เกิน 70
พูดง่ายๆ ราคา 80 ในขณะนี้ เป็นการพุ่งสูงขึ้นแบบชั่วคราวเท่านั้น

เหตุผลที่ราคาพุ่งขึ้นเลย 120 ในปี 2553 นั้น เกิดจากเศรษฐกิจจีนบูมอย่างหนัก มีการลงทุนขยายกำลังผลิตอุตสาหกรรมสะสมต่อเนื่องหลายปี รวมถึงการผลิตเหล็กเพื่อก่อสร้าง ทำให้นำเข้าถ่านหินมหาศาล ในช่วงนั้น ออสเตรเลียบูมสุดขีดจากการขายถ่านหิน และแร่โลหะอื่นๆ ให้จีน จนเศรษฐกิจเป็นฟองสบู่ทีเดียว

แต่โอกาสสำหรับถ่านหินไม่มีทางกลับไปสดใสดังเดิมอีกแล้ว เพราะจีนกำลังเปลี่ยนโมเดล จากการผลิตเพื่อส่งออก เป็นการบริโภคภายในประเทศ และทรัมป์กำลังจะบีบด้านการค้า รวมทั้งหลายประเทศทั่วโลกเริ่มตั้งข้อรังเกียจถ่านหิน

ต่อไปในอนาคต ธุรกิจถ่านหินจะหาแหล่งเงินกู้ได้ยากขึ้นๆ เพราะจะถูกบีบด้วยมาตรการโลกร้อน อนาคตทางธุรกิจนี้จึงไม่สดใส และถึงแม้ทรัมป์ประกาศจะลดความเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะช่วยพยุงอนาคตถ่านหินให้กระเตื้องขึ้นได้ไม่มาก

ด้วยเหตุที่คนไทยที่ลงทุนถ่านหินไปแล้ว มาถึงวันนี้คงเริ่มตระหนักว่ากลับตัวได้ยาก พ่อค้าถ่านหินจึงย่อมจะผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าในไทยอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เท่านั้น ที่จะสร้างหลักประกันว่า เหมืองจะขายถ่านหินได้ต่อไปในอนาคตอีก 30 ปี

ดังที่คุณศศิน (นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร) ให้ความเห็นไว้ว่า เมื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไปแล้ว ไม่ว่าจะคุ้มหรือไม่คุ้ม ก็จะต้องหาซื้อถ่านหินมาเผากันไปเรื่อยๆ นั่นแหละ