“ปารีณา”ขอเลื่อนไต่สวน กรณีวิจารณ์คดีบ้านเอื้ออาทรอ้างเพิ่งแต่งตั้งทนายความ

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง องค์คณะผู้พิพากษา 9 คน คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร นัดไต่สวนคำร้องที่ นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พม. จำเลยที่ 1 คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ ขอให้ศาลเรียก น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ผู้ถูกร้อง มาสอบถามและวินิจฉัยกรณีที่นายวัฒนา อ้างว่า น.ส.ปารีณา น่าจะกระทำการที่ขัดต่อคำสั่งศาลเกี่ยวกับข้อกำหนดที่วางไว้ในคดีบ้านเอื้ออาทร จากกรณีที่มีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวของน.ส.ปารีณา เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา พาดพิงนายวัฒนา และการเบิกความในคดีบ้านเอื้ออาทร

โดยนายวัฒนา ผู้ร้อง เดินทางมาศาลพร้อมทีมทนายความ ขณะที่ น.ส.ปารีณา ผู้ถูกร้อง เดินทางมาโดยมีนายสมชาติ พินิจอักษร ทนายความที่เพิ่งแต่งตั้งเข้ามา อย่างไรก็ตาม น.ส.ปารีณา แถลงขอศาลเลื่อนนัดไต่สวนออกไปก่อน เนื่องจากเพิ่งพบกับทนายความ ศาลได้พิจารณาแล้ว นัดไต่สวนคู่ความทั้งสองอีกครั้งในวันที่ 13 ม.ค.2563

ต่อมานายสมชาติ ทนายความของน.ส.ปารีณา กล่าวว่าฝ่ายน.ส.ปารีณา ขอให้ศาลเลื่อนนัดออกไปก่อน เนื่องจากเพิ่งเจอกับตน ซึ่งเป็นทนายความและยังไม่ทราบเกี่ยวกับเนื้อหาและรายละเอียดที่ น.ส.ปารีณาถูกกล่าวหา อย่างไรก็ดี ในส่วนของการต่อสู้คดี ยังให้รายละเอียดไม่ได้ เพราะจะเป็นการลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับคดีไป แต่ยอมรับว่า น.ส.ปารีณา ปฏิเสธข้อกล่าวหาต่อศาล โดยในวันที่ 13 ม.ค. ที่ศาลนัดไต่สวน น.ส.ปารีณา ก็พร้อมจะให้การต่อศาล

ด้านนายวัฒนา กล่าวว่าศาลสอบถามแล้ว น.ส.ปารีณา ก็ให้การปฏิเสธ ขณะที่น.ส.ปารีณา เพิ่งได้พบกับทนายความ จึงเลื่อนการไต่สวนออกไปก่อนเป็น 13 ม.ค. โดยศาลกำหนดนัดฟังคำสั่งไว้ล่วงหน้าในวันที่ 24 ก.พ.2563 สำหรับการนำสืบนั้น นอกจากตนก็จะมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการพิสูจน์ตำแหน่งการโพสต์ (URL) ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้แม้จะมีการลบทิ้งไปแล้ว
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณาในศาล นายสมชาติ ทนายความของน.ส.ปารีณา เดินมาแจ้งกับสื่อมวลชน ที่รอบันทึกภาพและสัมภาษณ์อยู่ด้านนอกศาล ว่า น.ส.ปารีณา เดินทางกลับไปแล้ว โดยยังขอไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทรนั้น ก่อนหน้านี้ ระหว่างการไต่สวนพยานโจทก์ ศาลออกข้อกำหนดเมื่อวันที่ 15 ก.ค.62 ว่า หลังจากที่มีการรายงานเกี่ยวกับคดีจนอาจกระทบการพิจารณาได้ องค์คณะฯ จึงออกข้อกำหนดระหว่างการพิจารณา ห้ามไม่ให้ผู้ใดกระทำการ 1. ให้ข่าว รายงาน หรือย่อเรื่องกระบวนพิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้อง 2.ทำการวิภาค (ภาษาตามกฎหมาย) โดยไม่เป็นธรรมในการดำเนินคดีของคู่ความ หรือคำพยานหลักฐาน รวมทั้งการแถลงข้อความที่เป็นการเสื่อมเสียชื่อเสียงของคู่ความ , พยาน 3.ชักจูงให้เกิดมีคำพยานเท็จ โดยการกระทำนั้นประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาล , คู่ความ , พยานหลักฐาน ที่จะมีผลทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป โดยการออกข้อกำหนดดังกล่าวเป็นไปตามอำนาจประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.แพ่ง)