เสวนา กมธ.รัฐสภาสุดเข้ม ‘กษิต’ จี้ปฏิรูปราชการ อย่าให้เป็นนายประชาชน ‘ช่อ’ แนะตั้งเพจ-ไลฟ์สด

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “คณะกรรมาธิการรัฐสภา ประชาชนหวังพึ่งพาได้แค่ไหน” โดยมีกรรมาธิการรัฐสภาหลายชุดร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย นายรัชฎะ สมรทินกร
น.ส.พรรณิการ์ วานิช รองกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตั้งแต่สนใจการเมืองไม่เคยมีการเมืองยุคไหนที่กรรมาธิการ (กมธ.) มีบทบาทเหมือนปัจจุบัน เหตุใด กมธ.จึงกลายเป็นกลไกที่แอคทีฟขึ้นมา ประชาชนให้ความสนใจเทียบเท่าการประชุมสภา 500 คน
.
น.ส.พรรณิการ์ กล่าว่า มี 2 ประเด็นที่น่าสนใจ 1.ต้องยอมรับว่าการเมืองยุคนี้ เนื่องจากฝ่ายค้านและรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ จึงแปรผันเป็นความนิยมที่ไม่ต่าง ครึ่งหนึ่งนิยมฝ่ายค้าน อีกครึ่งเชียร์รัฐบาล ซึ่งติดตามผลงานได้ผ่านกระทรวง ส่วนฝ่ายค้านลำพังเพียงการอภิปรายไม่ได้ทำให้เกิดผลรูปธรรมชัดเจนแบบฉับพลันกับประชาชน ในขณะที่สภาและ ครม.คือพื้นที่แสดงผลงานของฝั่งรัฐบาล กรรมาธิการครเป็นที่ ที่ฝ่ายค้านจะมีโอกาสในการขยับทำอะไรได้มากขึ้น
.
2.ต้องยอมรับว่า กมธ. มีความพยายามทำอะไรที่แปลกใหม่มากขึ้น เช่น กรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน หน้าที่หลักคือรับเรื่องร้องเรียนคดีความและกฎหมาย ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซี่งมีงานมาก แต่ในยุคที่โซเชียลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต กมธ.หลายประเทศถือการทำงานอย่างโปร่งใส ใกล้ชิดประชาชน เช่น ออสเตรเลีย หรือ สหรัฐอเมริกา กรรมาธิการมีช่องโทรทัศน์ถ่ายทอดไลฟ์ทุกนัด แต่ของไทย 35 คณะ จึงเป็นไปได้ยาก
.
ส่วนตัวเห็นว่าควรมีเพจกรรมาธิการ และจัดไลฟ์ในประเด็นที่น่าสนใจ หรือเมื่อมีการเรียกเจ้าหน้าที่รัฐมาสอบถามเรื่องที่มีการร้องเรียนจากประชาชน ผ่านเพจทางการของ กมธ. เพื่อให้ประชาชนได้เห็นคำตอบของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งจะให้ความเป็นธรรม และเป็นการทำงานที่โปร่งใสสำหรับทุกฝ่าย
.
.
“ครั้งแรกที่มีการไลฟ์ผ่านเพจกรรมาธิการ คือการเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสอบถามกรณีทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมืองและไม่มีความคืบหน้า เช่น กรณีคุณเอกชัย หงส์กังวาน ฟอร์ดเส้นทางสีแดง หรือ จ่านิว และนักกิจกรรมคนอื่นๆ ซึ่งมีคนดูประมาณ 30,000 คน หรือกรณีล่าสุด การไลฟ์ที่ประสบความสำเร็จคือเรื่องการใช้คดีความ มาตรา 116 ปิดปากประชาชน สกัดกั้นการแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดย เชิญ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก และ พันเอกพิทักษ์พล ชูศรี มาสอบถามกระบวนการฟ้องร้อง ไลฟ์นี้มีคนดูประมาณ 80,000 คน จำนวนเติบโตขึ้นอย่างน่าสนใจทำให้บรรยากาศเป็นไปด้วยดี เพราะรู้ว่าประชาชนดูอยู่ ต่างฝ่ายจึงแสดงสาระข้อเท็จจริงมากเท่าที่จะเป็นไปได้”
.
“10-20 ปี เราอยู่ในสถานการณ์ที่ขัดแย้งวุ่นวาย ประชาชนเสื่อมศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย และระบบรัฐสภา คุณเชื่อจริงหรือไม่ว่ารัฐสภาแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้นได้ นี่คือปรากฎการณ์อันเนื่องมาจากความขัดแย้งและแตกแยกทางการเมือง การทำงานของ กมธ. 35 ชุด แม้ไม่ใหญ่มาก แต่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ถ้า กมธ.ทำงานอย่างแข็งขัน ไม่เพียงตอบสนองความทุกข์ยากได้เร็วกว่ารอกระบวนการในรัฐสภา แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ว่านักการเมืองต่างพรรคสามารถทำงานร่วมกันได้ สามารถร่วมมือแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ ความเชื่อมั่นแบบรัฐสภาคือทางออกของประเทศไทย” น.ส.พรรณิการ์กล่าว
.
ด้าน นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า การที่ประธานกรรมาธิการรัฐสภามีถึง 35 คณะ ส่วนตัวมองว่า
1.เป็นการแบ่งเค้กที่นั่ง และมีการตกสำรวจมากเกินไป ซึ่งไม่มีความจำเป็น จึงต้องทบทวนเรื่องนี้
2.ประเทศไทยถูกกล่าวหาจากทั่วโลกเรื่องความเหลื่อมล้ำ อันดับ 1 สืบเนื่องจากการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ถามว่าต้องมีคณะกรรมการแก้เหลื่อมล้ำหรือไม่
3. การเข้าถึงปัจจัย 4 และโครงสร้างพื้นฐาน จะมีรถไฟความไวสูงไปเพื่ออะไร เมื่อเชื่อมโยงโครงสร้างสองรางไม่ได้ เพื่อความทัดเทียมทางสังคมเป็นสำคัญ จึงต้องมีกรรมาธิการดูเรื่องการเข้าถึงปัจจัย 4
4.กระบวนการยุติธรรม การวิพากษ์บุคคลสาธารณะแล้วถูกข้อหาหมิ่นประมาท ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ให้กล่าวหาก่อน แล้วค่อยไปชี้แจงที่ศาล อีกประการคือ ทั่วโลกบอกว่าเราอยู่ในกับดักการพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัย ขณะเดียวกันค่าแรงสูง โรงงานย้ายฐานการผลิตไป เวียดนาม ลาว เขมร 5 ปีที่ผ่านมายังไม่มีมาตรการหลุดพ้นได้
.
“ต้องปฏิรูประบบข้าราชการเพื่อให้ราชการไม่เป็นเจ้านายของประชาชน นอกจากนี้ สิ่งที่ข้าราชการประจำทำต้องเปิดเผยร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีความลับกระทั่งการซื้ออาวุธ เพราะกรรมาธิการเป็นสถาบันทางการเมืองที่สูงส่ง ข้าราชการจะบอกว่าเป็นความลับไม่ได้” นายกษิตกล่าว และว่า คณะกรรมาธิการควรทอนเหลือ 20 ไม่ต้องมีถึง 35 คณะ เพราะที่ผ่านมากรรมาธิการส่วนใหญ่เป็นกระสอบทราย และมีคนที่หากินกับคณะกรรมาธิการ เช่น เป็นเลขาธิการ ที่ปรึกษา หน้าเดิมติดต่อกัน หาช่องทางในการมีชื่อเสียง เพื่อเบ่ง และดูว่าโปรเจ็กต์อะไรที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมได้ เป็นเรื่องของการทุจริต ซึ่งการเมืองต้องไม่มีเรื่องเหล่านี้
.
น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กรรมาธิการขอให้ถอดหัวโขนความเป็นพรรค ร่วมกันทำงานจึงจะทำให้กรรมาธิการพึ่งพาได้ในสายตาประชาชน และไม่อึดอัดในการทำงานกับภาครัฐ กรรมาธิการควรปรับตัวโดยต้องเป็นที่พึ่งและสร้างผลงาน ทำงานร่วมกันเพื่อแข่งกับกรรมาธิการชุดอื่นในเชิงสร้างสรรค์ กระตุ้นการทำงานของคณะอื่น
น.ส.กัลยายังกล่าวอีกว่า หากสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลในกระบวนการยุติธรรมได้ กรณีที่ประชาชนที่ไม่มีกำลังจ้างทนาย จะสามารถเอาเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตมาเทียบเคียง เพื่อให้ระยะเวลาการจ้างและการใช้เงินในกระบวนการยุติธรรมลดลงได้
.
ด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า กรรมาธิการเป็นช่องทางให้ประชาชนเข้ามาร้องเรียน และชี้แจงปัญหาของตังเองได้โดยตรง ทำให้หลายเรื่องมีความคืบหน้า และประชาชนมีทางออกในการร้องสิทธิของตนเอง
.
ทั้งนี้ กรรมาธิการชุดปัจจุบันมีปัญหา 2 เรื่องหลัก คือ 1.กรรมาธิการที่ผ่านมาไม่ได้มีการเลือกตั้งโดยตรง แต่มาจากการแต่งตั้ง จึงไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ และมีปัญหาคาราคาซังมากว่า 5 ปี
2.จากการเลือกตั้งที่ผ่านมาสะท้อนว่าประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง ประเด็นสังคมจึงถูกหยิบมาศึกษามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตนเห็นข้อบกพร่องของกรรมาธิการ 3 เรื่องคือ
.
1.รัฐธรรมนูญปี 2560 บอกว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรรมาธิการจะให้บุคคลใดทำการแทนไม่ได้ จึงส่งผลให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่อยากมาชี้แจง การตัดแขนตัดขาเช่นนี้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของกรรมาธิการลดลงอย่างมหาศาล และส่งผลให้การทำงานของกรรมาธิการมีปัญหาจากที่มีเวลาน้อยอยู่แล้ว ดังนั้น การตั้งอนุกรรมาธิการจะสามารถช่วยตรวจสอบในหลายเรื่องได้
2.การตรวจสอบที่คล้ายจะเป็นเรื่องดี แต่ไทยยังมีปัญหา เช่น เรื่องที่นำมาเปิดเผยถูกตัดตอน หรือไม่ระบุว่าใครพูด เนื้อหาอ่านแล้วไม่เข้าใจ เป็นเพียงการสรุปประเด็ไม่ได้บอกรายละเอียด
3.อัตราส่วนของสมาชิกที่กระจายตัว อาจเห็นว่าเป็นข้อดี แต่ข้อไม่ดีคือทำให้คนที่ได้ไม่ตรงกับประเด็น เช่น กรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ ที่คิดเพียงกระบวนการแบ่งเค้กทำให้กรรมาธิการไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
.
“กรรมาธิการอาจดูไม่มีอำนาจ แต่ความจริงแล้วมีมากพอ สามารถให้คนมาชี้แจงได้ อย่างไรก็ตามกรรมาธิการจะต้องทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา การไม่ตั้งอยู่ในความเป็นกลางจะไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขได้ ต้องพยายามซักไซ้ข้อเท็จจริง โดยไม่มีอคติส่วนตัว หากทำไปตามหน้าที่จสามารถหาทางออกได้ อย่างไรก็ตาม หวังว่าเราจะมีสภาที่เข้าถึงและเป็นที่พึ่งของประชาชนมากขึ้น ที่ผ่านมาสถานที่ไม่พร้อมนัก และเรื่องการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ยาก” นายสุรพงษ์กล่าว
.
ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เปิดเผยว่า ข้อบกพร่องในการดำเงินการของ ประธานกรรมาธิการ คือ ต้องไม่ครอบงำสมาชิกเพราะทุกคนเท่ากัน นอกจากนี้ กระบวนการชี้แจง รับฟังเรื่องราวต้องมีการพัฒนาโดยไม่มีเรื่องของคนสนิท และควรจัดที่ให้ให้นักข่าวเข้าไปร่วมฟังได้อย่างเปิดเผยเหมือนต่างประเทศ ระบบตรวจสอบจึงจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
.
“ทั้งนี้ สิ่งที่คาดหวังมากทีสุด คือกรรมาธิการตำรวจ และกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากยังไม่มีอะไรที่ดำเนินการได้จริง บางเรื่องเป็นเรื่องโกหก ดังนั้น จะทำอย่างไรให้มีกลไกตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการกดดันให้หน่วยงานราชการทำงานอย่างถูกต้องเพราะไม่ต้องการถูกเรียก” พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว