แกนนำญาติวีรชนพฤษภา 35 เตือนทุกฝ่ายระวังคุมไม่อยู่ สัญญาณการเมืองไทยเข้าขั้นอันตราย

“ญาติวีรชนพ.ค.35″ ชี้สัญญาณอันตรายรัฐบาลเสื่อม-เศรษฐกิจทรุด การเมืองใกล้”ลงท้องถนน” เตือนทุกฝ่ายระวัง “คุมไม่อยู่” ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ จี้ ประยุทธ์เร่งสร้างปรองดองก่อนนองเลือด

วันที่ 1 ธันวาคม 2562 นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 และอดีตกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ ว่า บ้านเมืองยังวนเวียนอยู่ในความขัดแย้งทางความคิดของคนในชาติเหมือนเดิมและยังไม่เห็นหนทางสู่ความสงบเพราะผู้รับผิดชอบบ้านเมืองแก้ไขปัญหาผิดพลาดและกำลังหลงทางจึงมีแนวโน้มว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้นอีกและส่งผลกระทบแทบทุกด้านจึงขอแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองดังนี้

1. กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ลาออกจากที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯกลับไปอยู่กับประชาชนเพื่อรณรงค์ในเรื่องต่างๆเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมเพราะตนเองมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคดีความทางการเมืองจึงขอให้กำลังใจสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ให้อดทนอดกลั้นรักษาแนวทางประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาด้วยอดุมคติที่มั่นคง แต่เป็นห่วงในการเคลื่อนไหวนอกสภาด้วยการปลุกมวลชนให้ลุกขึ้นสู้กับเผด็จการนั้นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษและอย่าให้ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ ยิ่งสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ที่ประชาชนกำลังประสบความทุกข์ยากจากภาวะเศรษฐกิจหากมาร่วมผสมโรงกับเหตุทางการเมืองจะทำให้สถานการณ์ร้อนแรงขึ้น หากลงท้องถนนเมื่อไหร่ก็จะสร้างความเดือดร้อนและสุ่มเสี่ยงเกิดความรุนแรงขึ้นได้และคราวนี้จะควบคุมสถานการณ์ได้ยากหาก”เอาไม่อยู่”ใครจะรับเป็นผู้รับผิดชอบ

2. ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง10กว่าปีที่ผ่านมา องค์กรอิสระมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาจัดการปัญหาความขัดแย้ง ทางการเมืองซึ่งคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระ9องค์กรตามรัฐธรรมนูญฉบับปี40 เป็นเหมือน”องค์กรสวรรค์”มีหน้าที่ปกปักรักษาชาติบ้านเมือง หรือคอยตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ แต่บัดนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าองค์กรอิสระต่างๆไม่ได้ทำหน้าที่ให้เป็นไปตามภารกิจของตนเอง โดยเฉพาะ”ตุลาการภิวัฒน์”ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นกลไกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง กลับกลายเป็นเพียง”วาทกรรม”เท่านั้น เพราะคำวินิจฉัยในคดีความต่างๆไม่ได้ยึดเจตนารณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงกลับทำเหมือนองค์กรทั่วไป ถูกมองว่าปกป้องแต่กลุ่มผู้มีอำนาจจัดการฝั่งตรงข้ามไร้บรรทัดฐานไม่เป็นที่เชื่อถือ”2มาตรฐาน”แทนที่องค์กรอิสระจะเป็นกลไกคลี่คลายความขัดแย้งกลับซ้ำเติมความขัดแย้งเสียเอง ดังนั้นต้องทบทวนบทบาทหน้าที่ของตัวเองใหม่

3. บทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำตัวเสื่อมลงทุกวัน ไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ส.ส.บางคนบุกรุกป่าก็เพิกเฉยไม่เคารพกฎหมายบ้านเมืองสำคัญตัวเองผิดคิดว่าได้รับเลือกตั้งมาแล้วมีอภิสิทธิ์ชนทำอะไรก็ไม่ผิดโดยมีรัฐบาลฝ่ายตัวเองคอยหาทางอุ้มให้พ้นผิด ในส่วนคณะกรรมาธิการโดยเฉพาะคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ก็ไม่รู้หน้าที่ของตัวเองในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันซึ่งมีมากมาย อาทิ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี ,โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ,รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน,การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 หรือ เทอร์มินอล 2 โครงการเหล่านี้มีการทุจริตเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน และคนในรัฐบาลคนใดได้รับประโยชน์อย่างไรบ้างรวมทั้งการยื้อเวลาแบน3สารพิษ เพื่อรอให้หมดสต๊อกก่อน ใครได้ประโยชน์ ทำไมไม่ตรวจสอบ ดังนั้นขอให้ทำหน้าที่คุ่มค้าภาษีของประชาชนด้วยอย่าทำตัวเหมือนอยู่ใน”โรงเหล้าเถื่อน”

4. วิกฤติทางการเมืองที่ยังติดหล่ม เพราะผลพวงจากการรัฐประหารของคสช.ไม่ได้รักษาสัญญาประชาคมที่จะสร้างความสมานฉันท์สามัคคีและปฏิรูปประเทศทุกด้านร่างรัฐธรรมนูญมาสืบทอดอำนาจตัวเองตอนนี้เริ่มส่งผลกระทบแทบทุกด้าน ด้านการเมืองก็ยังวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์ กระบวนการยุติธรรมก็ไม่เป็นที่เชื่อถือยอมรับ ประชาชนไม่รับความยุติธรรมก็เพิ่งพาใครไม่ได้ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็ถึงทางตันประชาชนระดับล่างเดือดร้อนกันทั่วหน้า แต่กลุ่มทุนใหญ่รวยขึ้น ประชาชนทุกภาคส่วนทุกเสื้อสีกำลังอึดอัดกับสถานการณ์ เริ่มมีกระแสออกมาไล่รัฐบาล ดังนั้นขอให้เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่าเล่นเกมเตะถ่วง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44 เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แล้วเริ่มต้นแก้ไขปัญหาให้ถูกทางมิเช่นนั้นบ้านเมืองจะเสียหายเกินกว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบได้