“สมคิด-แครี่ หล่ำ” ร่วมเซ็นเอ็มโอยู 6 ฉบับ ดันการค้า-ลงทุน “ไทย-ฮ่องกง” ไปให้ถึง 2 หมื่นล้านดอลล์

วันที่ 29 พฤศจิกายน​ 2562 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเยือนไทยของนางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่ทั้งสองฝ่ายได้สานต่อสิ่งที่ได้เคยตกลงกันไว้ในหลักการแล้วให้มีผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายไปอีกขั้น โดยเฉพาะในประเด็นที่ได้หารือกันไว้ในโอกาสที่เดินทางเยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมื่อวันที่ 23-25 ตุลาคมที่ผ่านมา ในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (จีบีเอ)​ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน

นายสมคิด กล่าวว่า ความเชื่อมโยงนี้จะมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ในช่วงต่อไป เพราะประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางอาเซียนและอินโดจีนหรือซีแอลเอ็มวีที ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเชิงธุรกิจ จึงมุ่งมั่นที่จะร่วมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน เพื่อให้ภูมิภาคนี้มีศักยภาพที่โดดเด่นและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ส่วนฮ่องกงก็เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญเชิงเศรษฐกิจของจีน โดยกำลังเดินตามนโยบายจีบีเอ และเส้นทางสายไหมใหม่ (บีอาร์ไอ)​ เป็นจุดเริ่มต้น เป็นประตูที่สำคัญของบริษัทจากจีนที่จะใช้ในการก้าวออกสู่ตลาดโลก ถ้าช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อเชื่อมโยงไทยกับฮ่องกงได้ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

“จากการประชุมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทยกับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง นับเป็นก้าวสำคัญในการกำหนดแนวทางและเป้าหมายของความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งเป็นมิติใหม่ในความสัมพันธ์ไทย-ฮ่องกง เนื่องจากจะเป็นกลไกเชิงนโยบายที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมหารือกัน โดยตั้งใจจะใช้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ จัดการประชุมระดับสูงในลักษณะนี้อย่างน้อยปีละครั้ง” นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวว่า ทั้งนี้ ได้ลงนามร่วมกันในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-ฮ่องกง และเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงต่างๆ จำนวน 6 ฉบับ ซึ่งจะเป็นกรอบการดำเนินความร่วมมือระหว่างกันในระยะต่อไป ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1.ด้านการค้าและการลงทุน โดยทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าจะร่วมกันผลักดันให้มูลค่าการค้าไทยและฮ่องกงบรรลุเป้าหมายที่ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้เมื่อปี 2560 พร้อมทั้งเริ่มหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ฮ่องกง และการปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุนของภาคเอกชนให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน

2.ด้านการลงทุนและการโยกย้ายฐานการผลิต โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในการสร้างเครือข่าย การแลกเปลี่ยนการเยือนและการร่วมกิจกรรมระหว่างกัน โดยยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย รวมถึงส่งเสริมการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการผลิตและการโยกย้ายฐานการผลิตของวิสาหกิจฮ่องกงมายังไทย ซึ่งเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน​ 2562 ได้พบกับคณะนักลงทุนของฮ่องกง ที่นายเอ็ดเวิร์ด เยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และการพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกงเป็นผู้นำมา ซึ่ง​หลายบริษัทได้แสดงคืนความจำนงที่จะมาลงทุนในไทยต่อไป

3.ด้านการเงิน โดยสองฝ่ายจะร่วมกันขับเคลื่อนการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์และตลาดทุนของกันและกัน ผ่านผลิตภัณฑ์การลงทุนชนิดใหม่ๆ เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านระบบตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (ดีอาร์)​ การจดทะเบียนหลักทรัพย์ข้ามตลาดระหว่างกันในหลักทรัพย์ตัวสำคัญ ตลอดจนการทำกองทุนรวม และการส่งเสริมให้มีการลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์  เป็นต้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริม​ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลการตลาด โดยเฉพาะการทำกฎหมาย​เพื่อการกำกับ​ดูแล​ ซึ่งจะปูทางไปสู่ผลิตภัณฑ์ด้านการเงินใหม่ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนสีเขียว (ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม)

4.ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยที่คนไทยและฮ่องกงต่างมีความสร้างสรรค์อย่างมาก อาทิ ในด้านภาพยนตร์ ละคร โฆษณา การออกแบบ ซึ่งสองฝ่ายจะร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมให้มีการใช้ความสร้างสรรค์​เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ โดยจะมีมาตรการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือของผู้ประกอบการ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสนับสนุนให้ต่างฝ่ายต่างเข้าร่วมกิจกรรมของกันและกัน ซึ่งจะมีการจัดทำแผนงานร่วมกันต่อไป

5.ด้านการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์​ตอัพ) ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี โดยทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ​ในการสร้างระบบนิเวศของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และได้รับทราบถึงพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมระหว่างฮ่องกง ไซเบอร์พอร์ต และบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด และมีความพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวให้มีมากขึ้น โดยจะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ การทำวิจัยร่วมการบ่มเพาะสตาร์​ตอัพ ที่มีศักยภาพและการมีมาตรการ เพื่อส่งเสริมให้สตาร์​ตอัพเข้าสู่ตลาดโลกได้ง่ายขึ้น

6.ความร่วมมือดังกล่าว​ จะไม่ประสบผลสำเร็จ หากขาดความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคล จึงเห็นพ้องให้ร่วมกันผลักดันความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้วย โดยเฉพาะด้านอาชีวศึกษาและการยกระดับทักษะแรงงานในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมการเกษตร และด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ และเพื่อส่งเสริมการไปมาหาสู่และการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในระดับประชาชนทั้งสองฝ่าย ยังได้ร่วมกันตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยว 3 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2564

“เชื่อว่าการเยือนไทยของนางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงครั้งนี้ และความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ จะช่วยสานต่อเจตนารมณ์ร่วมของทั้งสองฝ่ายในการเป็นประตูสู่อาเซียนของไทย และการเป็นประตู สู่จีนของฮ่องกง ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฮ่องกงให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืนรวมถึงสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจให้ไทยฮ่องกงและภูมิภาค” นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวว่า ผลลัพธ์ของการประชุมจะมีความคืบหน้าได้อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรมหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ต้องเร่งรัดการทำงานร่วมกัน โดยเก็บเกี่ยวโอกาสและผลกระโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายได้วางแนวทางไว้ เพื่อความก้าวหน้าและยั่งยืนของไทยกับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง รวมทั้งอนุภูมิภาคและภูมิภาคต่อไป