ธนารักษ์ปั้นรายได้หมื่นล. ปล่อยเช่า 7-11 จ่ายตามเรต

กรมธนารักษ์เดินหน้าบี้ค่าเช่าเชิงพาณิชย์ ร่อนหนังสือแจ้ง 5 หน่วยงานใน กทม.มาขออนุญาตจัดสรรพื้นที่เปิด “ร้านสะดวกซื้อ-ร้านกาแฟ-สาขาแบงก์” จ่ายค่าเช่าให้ถูกต้อง จัดทีมสแกนพื้นที่ทั่วประเทศ เร่งเคลียร์เมกะโปรเจ็กต์ค้างท่อ หวังปั๊มรายได้เข้ารัฐปี 2563 ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมธนารักษ์ได้ส่งหนังสือถึงส่วนราชการ 5 แห่งในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ได้นำที่ราชพัสดุที่อยู่ในความครอบครองไปจัดหาประโยชน์ โดยจัดสรรพื้นที่เพื่อเปิดร้านสะดวกซื้อ อาทิ 7-Eleven, แฟมิลี่มาร์ท และมินิมาร์ทอื่น ๆ ร้านกาแฟ อาทิ อเมซอน แบล็คแคนยอน และอื่น ๆ รวมถึงเป็นที่ตั้งสาขาย่อยของธนาคารต่าง ๆ ซึ่งพบว่า ยังไม่ได้จ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุอย่างถูกต้องตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2552 และระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการจัดสวัสดิการ พ.ศ. 2547 ให้เข้ามาดำเนินการให้ถูกต้อง

ทั้งนี้ กรมธนารักษ์มีนโยบายที่จะต้องบริหารจัดการการใช้ที่ราชพัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ภาครัฐ ปัจจุบันที่ราชพัสดุทั้งประเทศ 12.9 ล้านไร่ 96% อยู่ในความครอบครองของส่วนราชการ มีเพียงไม่เกิน 4% ที่กรมธนารักษ์บริหารจัดการอยู่ ขณะนี้กรมได้สำรวจการใช้งานของส่วนราชการทั้งหมดว่ามีการใช้งานอย่างถูกวัตถุประสงค์หรือไม่ หากใช้ประโยชน์ในราชการ ก็ไม่ต้องเสียค่าเช่า แต่หากนำไปใช้หาประโยชน์ในทางเชิงพาณิชย์ ก็ต้องมาขออนุญาตกรมธนารักษ์ พร้อมทำสัญญาเช่า เพื่อจ่ายค่าตอบแทนเข้ารัฐด้วย

โดยก่อนหน้านี้ กรมธนารักษ์เคยออกหนังสือเวียนแจ้งทุกส่วนราชการทราบว่า หากหน่วยงานใดมีการดำเนินการลักษณะดังกล่าวให้เข้ามาทำความตกลงกับกรมไปแล้วครั้งหนึ่ง พร้อมกับมีทีมสำรวจลงไปในพื้นที่ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคควบคู่กันไปด้วย จากการสำรวจก็พบว่า มี 5 ส่วนราชการในเขตกรุงเทพฯที่ดำเนินการไม่ถูกต้อง จึงทำหนังสือตรงไปถึงหน่วยงานดังกล่าวอีกครั้ง ขณะที่ในต่างจังหวัดยังอยู่ระหว่างรอทีมสำรวจส่งข้อมูลเข้ามา

“เราไม่ได้ห้ามว่าไม่ให้นำไปหาประโยชน์ แต่ต้องการให้ทำให้ถูกต้อง เข้าระบบ โดยมาติดต่อขอเช่าจากกรมธนารักษ์ ซึ่งอัตราค่าเช่าก็มีเรตอยู่ มีหลักเกณฑ์ชัดเจน อย่างเปิดร้านกาแฟก็เสียค่าเช่าเดือนละ 8,000 บาท ซึ่งเงินส่วนนี้ก็ไม่ได้มากมาย แต่หากรวม ๆ กันทั้งหมดก็น่าจะมีรายได้เข้ารัฐมาพอสมควร” นายยุทธนากล่าว

ปั้นรายได้ทะลุ 1 หมื่นล้าน

นายยุทธนากล่าวว่า ขณะเดียวกัน ยังมีการตั้งทีมเจ้าหน้าที่ไปสำรวจการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุของส่วนราชการต่าง ๆ ว่ามีการใช้ประโยชน์เต็มที่หรือไม่ หรือปล่อยไว้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า หากเป็นเช่นนั้นกรมธนารักษ์ก็จะดำเนินการขอคืน เพื่อนำมาจัดหาประโยชน์สร้างรายได้ให้ประเทศ เช่น หากเป็นที่ดินแปลงสวย ๆ ก็จะเปิดประมูลให้เอกชนเข้าไปลงทุน เป็นต้น อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุขนาดใหญ่ที่ยังค้างอยู่ต้องผลักดัน โดยที่ผ่านมาอาจจะมีปัญหาอุปสรรคในแง่การประสานงานระหว่างหน่วยงาน อาทิ โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุหมอชิต, โครงการพัฒนาท่าเรือสงขลา, โครงการพัฒนาท่าเรือภูเก็ต, การเปิดประมูลเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่ยังหาผู้ลงทุนไม่ได้อีก2 แห่ง คือ มุกดาหาร และหนองคาย, โครงการระบบส่งน้ำภาคตะวันออกของอีสท์วอเตอร์ ระยะที่ 3 ซึ่งส่วนนี้หากสำเร็จก็จะได้ค่าธรรมเนียมเช่าเข้ามาตก 400-500 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาปรับอัตราค่าเช่าที่ราชพัสดุในส่วนของรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสมมากขึ้นด้วย

“ที่ผ่านมา กรมธนารักษ์มีรายได้จากค่าเช่าที่ราชพัสดุส่งเข้ารัฐเฉลี่ยปีละ 7,500-8,500 ล้านบาท แต่ปีงบประมาณ 2563 นี้ ผมมีเป้าหมายว่าต้องทำให้ได้เกิน 10,000 ล้านบาท” นายยุทธนากล่าว

เปลี่ยนผู้บุกรุกเป็นผู้เช่า

นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องการจัดที่ราชพัสดุให้ประชาชนเช่าเป็นที่อยู่อาศัย และที่ทำการเกษตร ซึ่งปัจจุบันที่ราชพัสดุในความครอบครองของส่วนราชการหลาย ๆ แห่ง มีการปล่อยให้ถูกบุกรุก ทำให้ชาวบ้านที่บุกรุกเสียสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ จากรัฐบาล ที่ผ่านมา ยอมรับว่าดำเนินการไปได้ล่าช้า ปีละแค่ราว 3,000 ราย เนื่องจากกระบวนการตรวจวัดพิสูจน์สิทธิทำได้ล่าช้า หลังจากนี้จะต้องทำให้ได้กว่า 10,000 รายต่อปีขึ้นไป “ตอนนี้เรามีข้อมูลอยู่ว่ามีผู้บุกรุกทั่วประเทศอยู่กว่า 130,000 รายเราจะประสานกับส่วนราชการที่มีที่ราชพัสดุที่ถูกบุกรุก ให้ส่งมอบพื้นที่ให้แก่กรมธนารักษ์ เพื่อที่กรมจะเข้าไปจัดสรรประโยชน์ให้ชาวบ้านเช่า ในอัตราค่าเช่าที่ถูก อย่างที่อยู่อาศัยคิดแค่ ตารางวาละ 25 สตางค์ต่อเดือน ส่วนพื้นที่เกษตรไร่ละ 200 บาทต่อปี ชาวบ้านจะสามารถนำสัญญาเช่าไปขอสินเชื่อจากแบงก์ได้ เช่น กู้ปรับปรุงบ้าน หรือกู้เป็นเงินทุนประกอบอาชีพ โดยไม่ต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบ เป็นต้น ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น” นายยุทธนากล่าว

สำหรับพื้นที่บุกรุกที่กรมจะเข้าไปดำเนินการจัดให้เช่าในปีงบประมาณ 2563 นี้ อาทิ ที่ราชพัสดุในการครอบครองของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริเวณเขื่อนภูมิพลจังหวัดตาก (ต่อเนื่องถึงเชียงใหม่) ประมาณ 10,000 ไร่

สร้างเงินหมุนเวียนในชุมชน

นายยุทธนากล่าวอีกว่า นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้มีนโยบายให้กรมธนารักษ์จัดทำโครงการเปลี่ยนชุมชนเป็นห้องประชุมในที่ราชพัสดุซึ่งจะเป็นการทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชน เพราะมีการจัดตลาดนัดชุมชนให้คนในชุมชนนำสินค้ามาวางขายให้แก่ผู้มาร่วมประชุมและผู้ที่สัญจรผ่านไปมา โดยกรมจะเดินหน้าให้ครบทั้ง 77 จังหวัด ภายในปีงบประมาณ 2563