อัยการภูมิใจร่วมประชุม ALA นำเสนอโครงการยุติความรุนแรง

อัยการภูมิใจร่วมประชุม ALA นำเสนอโครงการยุติความรุนแรง ตามโครงการพระดำริพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ออกบู๊ท แจกพัดลาย “ขอโทษ-ขอบคุณ” ช่วยดับหัวร้อนทะเลาะวิวาทบนถนน ผู้ร่วมประชุมให้ความสนใจ

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่โรงแรมภูเก็ต แมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา เมอร์ลินบีช จ.ภูเก็ต ในการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมาธิการถาวรของสมาคมกฎหมายอาเซียน ครั้งที่ 41 (41th ASEAN Law Association Governing Council Meeting) โดย คณะกรรมการแห่งชาติสมาคมกฎหมายอาเซียนประจำประเทศไทย (ASEAN Law Association (ALA), Thailand) บริเวณนอกห้องประชุม มีนิทรรศการของสำนักงานอัยการสูงสุด, สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัทที่ปรึกษากฎหมายภาคเอกชน (Law Firm) พร้อมเจ้าหน้าที่พูดคุยแนะนำเกี่ยวกับองค์กร

โดยในส่วนของสำนักงานอัยการสูงสุด นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้นำนิทรรศการโครงการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก รวมถึงการป้องกันอาชญากรรมตามแนวโครงการพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มาจัดแสดง และเปิดเผยว่า โครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สำนักงานอัยการสูงสุด ก็มาร่วมประชุมกับนักกฎหมายอาเซียน ซึ่งมากันครบทั้ง 10 ประเทศ ยุทธศาสตร์ต้นแบบที่ประชุมของ UN หรือโครงการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก การป้องกันอาชญากรรมตามแนวพระดำริเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ พระองค์ท่านทรงห่วงใยประชาชน และนำโครงการนี้มาเพื่อให้ประชาชนมีความสุข ครอบครัวถ้าปราศจากความรุนแรงกับผู้หญิงและเด็ก ก็จะเป็นครอบครัวที่มีความสุข อย่างที่เราพูดว่า ถ้าผู้ชายเป็นคนดี ผู้หญิงก็มีความสุข

นายโกศลวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า เราก็คิดว่าตั้งแต่ครัวเรือนจนถึงการป้องกันอาชญากรรมนั้นเป็นเรื่องสำคัญ นำเรื่องนี้มาเผยแพร่ให้ 10 ประเทศ ดูว่าการประชุมตั้งแต่ UN ที่เวียนนา ถึงไทย พระองค์ท่านนำแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยในเวทีโลก กลับมาให้เราทำในประเทศไทย เพื่อให้คนไทยอยู่กันอย่างมีความสุข แล้วก็เป็นมาตรฐานสากลไปถึงยูเอ็ฯ บูทเรามีหลายชาติเข้ามาเยี่ยมเยียน บางท่านจำได้ว่าพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาเคยเป็นประธานที่ประชุมโครงการ The Commission on Crime Prevention and Criminal Justice (CCPCJ) ที่เวียนนา พระองค์ท่านทำหน้าที่ได้อย่างสง่างาม อยู่ในใจผู้แทนหลายประเทศที่แวะมาเยี่ยมเยียน เห็นรูปพระองค์ท่านก็จำได้

ทั้งนี้ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้นำพัดที่เขียนข้อความด้านหนึ่งว่า “ขอโทษ” และอีกด้านเขียนว่า “ขอบคุณ” มาแจก โดยอธิบายถึงพัดนี้ว่า เดี๋ยวนี้คนหัวร้อนเยอะ ขับรถมีอารมณ์ร้อนแรง ถ้าบีบแตรไล่เราก็ยกขอโทษ ให้ทางกันก็ยกขอบคุณ ไม่มีประโยชน์ที่จะลงมาทะเลาะกันกลางถนน คนชนะต้องไปห้องขังที่โรงพัก คนแพ้ก็ต้องไปโรงพยาบาล แพ้จัดก็อาจจะไปวัด โครงการในพระราชดำรินี้รณรงค์ไม่ให้มีความรุนแรง ยุติความรุนแรงด้วยคำว่าขอบคุณ ขอโทษ

“คนเวลาโมโหไม่สนใจ ต่อให้บอกว่าคุณเป็นตำรวจเขาก็ไม่เชื่อ บอกว่าเป็นอัยการเขาก็ไม่เชื่อ อารมณ์โมโหไม่มีเชื่อ โกรธ สิ่งที่ถูกต้องถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่าตัดสินกันเองกลางถนน อย่าตัดสินกันเองที่หน้าบ้าน เช่นนำรถไปจอดขวางหน้าบ้านกัน ไปโรงพักไปแจ้งความ อยู่ที่เกิดเหตุให้ขอโทษกันอย่างเดียว แล้วก็ไปโรงพักแจ้งความ กระบวนการยุติธรรมจะให้ความยุติธรรมกับท่านเอง อย่าเอาชีวิตท่านไปเสี่ยง ท่านยังมีคนที่รักที่ห่วง รอท่านอุปการะเลี้ยงดู รอท่านกลับบ้าน เพราะฉะนั้นอย่าเสี่ยงภัยกัน ใช้คำว่าขอโทษกัน มีน้ำใจก็ใช้คำว่าขอบคุณ” นายโกศลวัฒน์ กล่าว