ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ตัวเลขส่งออกไทยหดตัว 10 เดือนแรก คาดทั้งปีติดลบ 2.5%

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ต.ค. 2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 20,757.78 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 4.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ถือเป็นหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ของปี 2562 หดตัวเพิ่มขึ้นจาก 9 เดือนแรกมาที่ร้อยละ -2.35 YoY

โดยการส่งออกสินค้าที่หดตัวลงในเดือน ต.ค. 2562 เป็นผลมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกและผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากความผันผวนของมูลค่าการส่งออกทองคำที่พลิกกลับมาหดตัวร้อยละ 22.24 YoY หลังขยายตัวสูงมากจนเป็นแรงหนุนสำคัญของการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตลอดจนมีผลของฐานราคาน้ำมันดิบโลกที่สูงในปีก่อน (โดยในเดือนต.ค. 2561 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 70-80 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล เปรียบเทียบกับในเดือนต.ค. 2562 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 58-63 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล) ที่ทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันดิบในเดือนต.ค. 2562 มีมูลค่าลดลงจากผลทางด้านราคาโดยเปรียบเทียบ เมื่อหักมูลค่าการส่งออกทองคำและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันแล้ว การส่งออกสินค้าไทยในเดือนต.ค. 2562 หดตัวร้อยละ 1.2 YoY

หากพิจารณารายตลาดส่งออก จะเห็นว่า การส่งออกสินค้าไทยไปตลาดสหรัฐฯ ยังขยายตัวดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 4.80 YoY สวนทางกับภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยที่หดตัวติดต่อกัน

โดยสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ขยายตัวดีบางส่วนเป็นรายการสินค้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง  เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น ชี้ให้เห็นว่า ไทยได้อานิสงส์บางส่วนจากการส่งออกสินค้าไปทดแทนจีนในตลาดสหรัฐฯ ในขณะที่การส่งออกสินค้าไทยไปจีนกลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -4.2 YoY ในเดือนต.ค. 2562 จากการหดตัวของการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเป็นสำคัญ เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ ยางพารา และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในเดือนต.ค. 2562 ดุลการค้าจากทองคำขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีการขาดดุลทองคำที่มูลค่า 465.23 ล้านดอลลาร์ฯ ส่งผลให้ดุลการค้ารวมในเดือน ต.ค. 2562 เกินดุลลดลงจากช่วง 1-2 เดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ การขาดดุลการค้าทองคำที่เพิ่มขึ้นยังช่วยลดทอนแรงกดดันบางส่วนที่มีต่อการแข็งค่าเงินบาทในช่วงเดือนต.ค. 2562

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าไทยในปี 2562 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ -2.5 และร้อยละ -5.0 ตามลำดับ โดยมองว่า การส่งออกและนำเข้าสินค้าไทยในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2562 ยังมีแนวโน้มหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจโลกยังให้ภาพที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ค่าเงินบาทยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลอื่นในภูมิภาค ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย

เมื่อมองไประยะข้างหน้า ทิศทางการส่งออกสินค้าไทยในปี 2563 ยังเผชิญปัจจัยกดดันจากทิศทางเศรษฐกิจหลักของโลกที่ชะลอตัว ค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังอยู่ในระดับสูง สถานการณ์สงครามการค้าและ BREXIT ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งจะยังเป็นตัวกดดันบรรยากาศการค้าโลก นอกจากนี้ ยังต้องติดตามประเด็นการตัดสิทธิ์ GSP ของสหรัฐฯ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2563 ยังมีความเสี่ยงที่จะยังหดตัวอยู่