“ปิยบุตร” ซัดเดือดกลางสภา ชี้ “คำสั่ง คสช.-ม.44” เปรียบ “กฎหมายหุ้มปืน” ก่อมรดกบาปให้ระบบ

วันที่ 21 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา (เกียกกาย) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อภิปรายในญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำตามประกาศและคำสั่งของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นายทหารกลุ่มหนึ่งนำโดย พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชารัฐบาลพลเรือน ได้ยึดอำนาจและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่ามีผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 เป็นกบฏ โทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต แต่ต่อมามีการออกกฎหมาย ร่างรัฐธรรมนูญ 2557 กำหนดให้การรัฐประหารไม่มีความผิด แสดงว่ากลุ่มผู้ยึดอำนาจ คือ คสช. รู้ว่ากากระทำนั้นมีความผิด แต่ก็ทำ และทำแล้วก็ออกคำสั่งว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ผิด ที่เรียกว่านิรโทษกรรมตัวเอง
นายปิยบุตร กล่าวว่า การที่ คสช. ยึดอำนาจ เป็นเผด็จการ มีทั้งกำลัง อาวุธ ใช้บังคับได้ แต่ทว่าก็เลือกใช้มาตรการทางกฎหมายมากมาย เพื่อจุดประสงค์ 3 ประการ ได้แก่ 1.เพื่อแปลงความต้องการ คสช. ให้เป็นกฎหมาย โดยอยากทำอะไรเขียนใส่กระดาษ ลงนามโดยหัวหน้า คสช. และบอกว่ากระดาษนั้นเป็นกฎหมาย หรือถ้าจะแนบเนียนกว่าหน่อยก็ช่วงที่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ให้ สนช. ตราเป็นพระราชบัญญัติ โดย สนช.เหล่านั้นก็ล้วนมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. ทั้งสิ้น

ชี้เป็น “กฎหมายหุ้มปืน” – ปักหลังคนต่อต้าน

นายปิยบุตร กล่าวว่า 2.เพื่อบังคับใช้บอกว่าทุกสิ่งที่ตนทำเป็นไปตามกฎหมาย โดยแท้จริงแล้วอำนาจนั้นมาจากอาวุธ มีการออกคำสั่งเป็นกฎหมาย แต่จริงๆ ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงเอากฎหมายมาห่อหุ้มปืน ห่อหุ้มอาวุธ เช่น ไม่อยากให้ใครมาชุมนุมทางการเมืองก็ออกคำสั่ง 3/ 2558 ห้ามชุมนุมทางการเมือง ใครฝ่าฝืนมีโทษ ถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดี นี่คือสิ่งที่ คสช. พยายามบอกว่าไม่ได้ใช้ปืน แต่ใช้อ้างว่าทั้งหมดเป็นตามกฎหมาย
3.เพื่อใช้กฎหมายอย่างบิดผัน ไม่สุจริต เช่น มี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เรื่องยุยงปลุกปั่น หรือกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว แต่ คสช. ก็สั่งให้นายทหารเจ้าประจำร้องทุกข์กล่าวโทษประชาชน เพื่อสร้างให้เป็นคดีความ ปักหลังคนเห็นต่าง คสช. ทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวก อยากวิจารณ์ก็มีความกังวลว่าทำไปแล้วจะถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ ดังนั้น จึงเลือกเซ็นเซอร์ตัวเอง

อัด “ประยุทธ์” เรียกร้องเคารพกฎหมาย-แท้จริงให้เคารพตัวเอง 

นายปิยบุตร กล่าวว่า สาเหตุที่ คสช. ซึ่งมีกำลังอาวุธ แต่เลือกใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพราะ 1.การใช้กฎหมายสร้างความแน่นอนชัดเจนว่าทำอะไรได้บ้าง และสื่อถึงประชาชนให้จงรู้ไว้ว่า ทำอะไรได้บ้าง ทำแล้วจะโดนอะไร รวมถึงเป็นการจัดระเบียบผู้ใต้บังคับบัญชาให้รับรู้ด้วยว่า อำนาจสูงสุดอยู่ คสช.
2.ทำให้อำนาจดิบเถื่อนแบบ คสช. ดูนิ่มนวล เนื้อแท้ที่ดูหน้าเกลียดน่ากลัว แต่เมื่อเอาเสื้อผ้า เครื่องแต่งหน้า แต่งกายใส่ ทำให้อำนาจปืน คสช. ดูสวยทันที นี่คือกระบวนการเสกปืนให้กลายเป็นกฎหมาย จึงไม่น่าแปลกใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นบุคคลที่ละเมิดกฎหมายสูงสุด เป็นบุคคลที่ก่อรัฐประหารมีโทษสูงสุดประหารชีวิต เป็นบุคคลทำลายหลักกฎหมาย แต่กลับกล้าชี้หน้าให้คนอื่นเคารพและอ้างกฎหมายตลอดเวลา เพราะแท้จริงแล้วสิ่งที่หัวหน้า คสช. เรียกร้องให้เคารพคือ อำนาจของตัวเขาเอง ไม่ใช่กฎหมาย

ชี้สร้าง “ปรากฏการใหม่” การรัฐประหาร

นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้สร้างเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ และเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการรัฐประหาร ใน 4 ประการ ได้แก่ 1.จำนวนของการออกประกาศและคำสั่งมีมาก นับตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 รวมทั้งสิ้น 565 ฉบับ ซึ่งเปรียบเทียบกับในอดีตถือว่าสูงกว่ามาก

2.มีอำนาจมากที่สุดซึ่งรุนแรงกว่า ม.17 ในยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะถ้ามองในแง่ระบบรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าแม้เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว หัวหน้า คสช. ก็มีอำนาจพิเศษตาม ม.44 ด้วย นี่เป็นเรื่องประหลาด เป็นครั้งแรกมีรัฐธรรมนูญถาวรเกิดขึ้นแล้ว ยังให้อำนาจแก่คนทำรัฐประหาร

3.รับรองคนทำรัฐประหารอย่างรัดกุมที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีองค์ความรู้ด้านรัฐประหาร และการป้องกันตนเองของรัฐประหารมีความสามารถสูงเป็นลำดับต้นๆ โลก การยกเลิกประกาศคำสั่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำลายเกราะคุ้มกันของคำสั่ง คือ มาตรา 279 ด้วย

4.ออกคำสั่งครอบคลุมหลายมิติ กระทบทุกแวดวง ไม่ใช่คำสั่งแค่เป้าประสงค์การเมือง หรือจำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคลเท่านั้น แต่กระทบชีวิตประจำวันด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ประมง ที่ดิน องค์กรอิสระ ตำรวจ หาบเร่ เด็กแว้น สิ่งแวดล้อม กระบวนการยุติธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย

จัดการ “มรดกบาประบบ คสช.”

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ก่อนที่ คสช.จะสิ้นสภาพ ได้ทิ้งทวนด้วยการออกคำสั่ง 9/2562 ยกเลิกคำสั่งรวมแล้ว 78 ฉบับ แต่ยังมีเรื่องที่ยังไม่ยกเลิก และหลายเรื่องกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน และก็มีที่แอบฝังใน พ.ร.บ.ที่เป็นกฎหมายปกติ และเหล่านี้ได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า “มรดกบาประบบ คสช.” ได้แก่
1.ประเทศไทยมีระบบกฎหมาย 2 ระบบ คู่กันโดยที่เราไม่รู้ตัว นั่นคือระบบกฎหมายปกติ กับประกาศคำสั่ง คสช.ที่ได้รับยกเว้น รับรองว่าถูกเสมอไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เราในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจในการตรา พ.ร.บ. เสร็จแล้วส่งวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ นายกทูลเกล้า พระมหากษัตริย์ลงปรมาภิไธย นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่ง พ.ร.บ.เหล่านี้ มีโอกาสขัดรัฐธรรมนูญเสมอ หากแต่ประกาศ คำสั่ง คสช. ที่ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีวันขัด แบบนี้ไม่น่าจะเรียกระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2.ประเทศไทยกลายเป็นรัฐทหาร กระบวนการที่ทำให้ทหารมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร อาทิ หลังรัฐประหาร 2549 เกิด พ.ร.บ.ระเบียบราชการรกระทรวงกลาโหม ที่ให้อำนาจทหารมากกว่ารัฐบาลพลเรือน ส่วนรัฐประหาร 2557 ยิ่งทำให้กระบวนการทำให้เป็นรัฐทหารเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ได้แก่ ทหารเข้าไปมีบทบาทใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร มากขึ้น, ทหารเข้ามีบทบาทในกระบวนการยุติธรรมที่ให้อำนาจทหารจับกุมคุมขัง ให้ทหารร่วมสอบสวนได้, ทหารมีบทบาทในชีวิตประจำวันประชาชน เช่น จัดการปัญหาป่าไม้ ที่ดิน ประมง อีอีซี สิ่งแวดล้อม ร้านเกมส์ ปฏิบัติการจิตวิทยาต่างๆ, ทหารฝังอำนาจเข้าอยู่ในรัฐธรรมนูญ ในแผนยุทธศาสตร์ ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ รวมถึงการสร้างกลไกให้ทหารเข้ามามีอำนาจครอบคลุมทั่วประเทศผ่าน กอ.รมน. เกิดเป็น กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด แล้วบูรณาการให้ส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆในพื้นที่มาอยู่ภายใต้ทหาร เปรียบเหมือนผู้ว่าราชการจังหวัดทหาร ควบคู่ไปกับผู้ว่าราชการจังหวัดแบบปกติ

ปลุกลงมติแทน ปชช. สู้การใช้อำนาจ คสช.

นายปิยบุตร กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้อง ตั้ง กมธ.เพื่อศึกษา เพื่อดูประกาศว่าฉบับไหนที่ดีก็แปรให้ถูกต้องในระบบ ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ยกเลิก เยียวยาผู้เสียหายด้วย ทั้งนี้ แว่วมาว่า ส.ส.ซีกรัฐบาลน่าจะไม่เห็นด้วยในการเสนอญัตตินี้ ทั้งนี้ อยากให้คิดทบทวนว่า หลังรัฐประหาร 2557 เพื่อนสมาชิกเจออะไรมาบ้าง วันนี้หลายท่านเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เป็นรัฐมนตรี แต่จำได้หรือไม่ในวันยึดอำนาจ มีการเรียกไปรายงานตัว เอาผ้าปิดตา กักตัวในค่ายทหาร จำกัดการเดินทาง บางคนถูกดำเนินคดี ถูกข่มขู่ ถูกไปเยี่ยมบ้าน และที่สำคัญคือ รัฐประหารสร้างผลกระทบต่อประชาชนอย่างมากมาย

“มีสุภาษิตเกี่ยวกับกฎหมายบทหนึ่งแปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า ‘เมื่อเสียงปืนดังขึ้น กฎหมายก็เงียบลง’ แต่ละวันนี้ เสียงปืนเริ่มเงียบลงแล้ว กฎหมายควรส่งเสียง ในช่วงที่ผู้ถือปืนเป็นใหญ่เราอาจกลัว อาจไม่กล้า ในช่วงที่มีการเอากฎหมายห่อปืนมาใช้เราอาจเคารพ แต่วันนี้ เรามีการเลือกตั้ง เริ่มกลับสู่ระบบปกติ ถึงเวลาแล้วที่เรา ผู้แทนราษฎรจะยืนตรงอย่างทะนงองอาจ นี่เป็นภารกิจสำคัญของ ส.ส.ซึ่งเป็นองค์กรจากการเลือกตั้งองค์กรเดียวที่เหลืออยู่ในประเทศไทย ช่วยกันลงมติแทนราษฎร ให้ความเห็นชอบตั้ง กมธ.ศึกษาเรื่องนี้” นายปิยบุตร กล่าว