“แอมเนสตี้” ปูด “เฟซบุ๊ก-กูเกิล” ทำธุรกิจเก็บข้อมูลผู้ใช้งานไปใช้ประโยชน์ ชี้คุกคามสิทธิมนุษยชนทั่วไป

องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล (เอไอ) เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมาระบุว่า รูปแบบการทำธุรกิจด้วยการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานแล้วนำไปใช้ประโยชน์ต่อของ ‘เฟซบุ๊ก’ สื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของโลก และ ‘กูเกิล’ บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของสหรัฐ นั้นเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

รายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลในชื่อว่า “ยักษ์ใหญ่ผู้สอดส่อง” ระบุว่า รูปแบบธุรกิจที่เสนอบริการออนไลน์แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย แล้วใช้ข้อมูลของผู้ใช้งานในการทำโฆษณาเพื่อหารายได้เป็นภัยกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมไปถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก รูปแบบธุรกิจดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสิทธิความเป็นส่วนตัว

“กูเกิลและเฟซบุ๊กครอบงำชีวิตสมัยใหม่ มีพลังที่ไม่มีใครเทียบในการเก็บข้อมูลและหารายได้จากข้อมูลส่วนตัวของผู้คนหลายพันล้านคน” คูมิ ไนดู เลขาธิการใหญ่แอมเนสตีอินเตอร์เนชั่นแนลระบุ และว่า การควบคุมชีวิตดิจิตอลของพวกเราซึ่งดูมีเงื่อนงำดังกล่าวกำลังทำลายความเป็นส่วนตัวที่เป็นสิ่งสำคัญ และนับเป็นหนึ่งในนิยามความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนของยุคนี้

นอกจากนี้รายงานของแอมเนสตี เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆออกนโยบายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานบริการออนไลน์ด้วย

อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊ก ออกแถลงการณ์คัดค้านรายงานฉบับดังกล่าวในทันที ระบุว่าเฟซบุ๊กคัดค้านการถูกจับกัดความรูปแบบธุรกิจว่าเป็นการสอดส่อง โดยระบุว่าโมเดลธุรกิจของเฟซบุ๊กคือการให้บริการที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้ใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน คือการได้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการรวมตัวเป็นชุมชนด้วยการเชื่อมต่อในโลกออนไลน์ พร้อมทั้งยืนยันว่าเฟซบุ๊กใช้ข้อมูลของผู้ใช้งานอย่างจำกัดและนำไปใช้โฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ได้ขายข้อมูลเหล่านั้นโดยตรง ขณะที่กูเกิล ยังไม่มีปฏิกิริยากับรายงานดังกล่าวของแอมเนสตี้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊กเคยเรียกร้องให้รัฐบาล ออกกฎที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในเรื่องการเก็บข้อมูลเหล่านี้ แทนที่จะปล่อยให้บริษัทเอกชนตัดสินใจเรื่องที่สำคัญทางสังคมกันเอง