สภาฯไฟเขียว พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองสถาบันครอบครัว “ปิยบุตร” หวั่น เป็น ม.44 จำแลงเหตุออกพ.ร.ก.จนเคยตัว

สภาฯ อนุมัติพ.ร.ก.แก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองสถาบันครอบครัว “ฝ่ายค้าน” โหวตแพ้ สู้ดัน พ.ร.บ.ศึกษาแก้รธน.ไม่ไหว ด้าน “ปิยบุตร” หวั่น ออกพ.ร.ก.แก้ไขกฎหมายจนเคยตัว จนกลายเป็นมาตรา 44 จำแลง

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม หลังจากพิจารณากระทู้ถามเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายสุชาติ แจ้งต่อที่ประชุมสภาฯให้ทราบถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยให้นายนวัธ เตาะเจริญสุข พ้นจากการเป็นส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย และคำวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเรื่องพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 พ.ศ.2562 ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย เสนอให้ที่ประชุมเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมโดยให้นำญัตติเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาพิจารณาต่อจากพ.ร.ก. เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชน และสมัยประชุมที่ผ่านมา สภาฯได้เคยเลื่อนมาแล้ว แต่เวลาผ่านมาเป็นเดือนกลับยังไม่ได้รับการพิจารณา เพราะติดปัญหาเรื่องการบรรจุระเบียบวาระของสภาฯ และการใช้เวลาไปกับวาระการรับทราบรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งๆที่กฎหมายผ่านสภาแค่สองฉบับเท่านั้น

“เราว่างเว้นจากการไม่มีสภามา 5 ปี แต่เรื่องสำคัญกลับไม่ได้รับการพิจารณา เราก็รอความหวังจากประธานสภาทีละสัปดาห์ แต่ผมดูแล้วเรามีเรื่องรับทราบอีกหลายเรื่อง ทำให้โอกาสที่จะมีการพิจารณาเรื่องญัตติการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญแทบไม่มีทางจะเป็นไปได้ จึงอยากขอให้ที่ประชุมสภาฯได้พิจารณาเปลี่ยนระเบียบวาระ” นพ.ชลน่าน กล่าว

ต่อมา นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ก่อนการปิดสมัยประชุมสภาที่ผ่านมาที่ประชุมสภาฯได้มีการอภิปราย และพวกเราทุกคนได้ทำความตกลงกันตอนนั้น ว่าเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาที่สอง เรื่องที่มีความสำคัญ คือ ญัตติด่วนเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากมาตรา 44 ซึ่งตอนนั้นมีการจัดกลุ่มของญัตติที่เป็นประเภทเดียวกัน และกลุ่มญัตติเรื่องการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“เราเข้าใจถึงความเร่งด่วน จึงขอให้พิจารณากลุ่มญัตติด่วนเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบมาตราา 44 ก่อน และเมื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวเสร็จแล้วถึงจะพิจารณาญัตติเรื่องรัฐธรรมนูญต่อไป” นายวิเชียร กล่าว

จากนั้น นายสุชาติ ได้ขอมติจากที่ประชุมเนื่องจากไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ปรากฎว่าที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 228 ต่อ 240 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการให้เลื่อนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาพิจารณาต่อจากพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 พ.ศ.2562 ส่งผลให้การประชุมสภาฯต้องพิจารณาเรื่องพ.ร.ก. และเรื่องรับทราบรายงานขององค์กรต่างๆและเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณเสร็จแล้วตามลำดับ และต่อด้วยญัตติด่วน เรื่อง ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 ก่อนจะต่อด้วยเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามลำดับ

ต่อมา เมื่อเข้าสู่การพิจารณาพ.ร.ก. นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน อภิปรายว่า พระราชบัญญัติฯมีผลใช้บังคับไปแล้ว แต่มีความไม่พร้อมบางประการทำให้ต้องมีการออกพระราชกำหนด กล่าวคือ ออกกฎหมายมาโดยไม่ได้ประเมินว่ารัฐจะมีความพร้อมจะปฎิบัติได้หรือไม่ สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการออกกฎหมายโดยไม่ได้ดูความเป็นจริงของสังคมทำให้เกิดความเสียหายขึ้น เรื่องนี้ต้องตำหนิสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ออกกฎหมายโดยไม่ได้ดูความพร้อม แต่เพราะเป็นสภาที่ไม่ได้มาจากประชาชน จึงเพิกเฉยต่อเสียงท้วงติงและออกมาโดยมีเสียงเห็นชอบไม่ครบตามองค์ประกอบด้วย ทำให้ไม่ชอบด้วยกระบวนการของสภาและความต้องการของสังคม จึงเกิดผลเสียทำให้วันนี้ต้องตามมาแก้ไขด้วยการระงับการใช้ไว้ก่อน

“ที่สำคัญไม่ได้มีกฎหมายนี้เพียงฉบับเดียวแต่ยังมีกฎหมายอื่นๆที่ออกโดยสนช.ที่มีปัญหาอีก เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย จึงเรียนว่าเราไม่สบายใจและเราต้องตามแก้อีกเยอะ ขอตำหนิรัฐบาลว่าการออกพระราชกำหนดยังไม่เพียงพอ เพราะต้องไปปรับปรุงอีกมากเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของสังคม ดังนั้น พวกเราจึงไม่เห็นด้วยกับการออกพระราชกำหนด ทางที่ดีที่สุดเพื่อให้เกิดความรอบคอบ คือ การแก้ไขโดยทำเป็นพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขกฎหมายดังกล่าว” นายสุทิน กล่าว

ด้าน นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ออกโดยสนช.ที่ใช้เวลาเพียง 7 นาทีเท่านั้น และเมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมาแล้วปรากฎว่ามีข่าวออกมาว่ากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีความพร้อม แต่ถัดมาไม่นานกลับมีพระราชกำหนดออกมาโดยอ้างถึงความไม่พร้อมในการปฏิบัติให้สอดรับกับพระราชบัญญัติ

“การออกพ.ร.บ.ไม่ใช่การเล่นขายของที่ออกไปแล้วและไปนึกออกว่าไม่มีความพร้อมจนต้องไปออกพระราชกำหนด แบบนี้ไม่ต่างอะไรกับโรงงานปั๊มกฎหมายรายวัน” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวว่า สำหรับพ.ร.ก.ฉบับนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว และยืนยันว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ผูกมัดต่อการประชุมสภาฯ ในการพิจารณาว่าจะอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้หรือไม่อนุมัติ ดังนั้น สภาฯจึงมีดุลพินิจในการพิจารณาพระราชกำหนด

“รัฐบาลดำรงตำแหน่งมาประมาณ 6 เดือน ออกพ.ร.ก.ไปแล้ว 2 ฉบับ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีความพยายามในการตราพ.ร.ก.บ่อยครั้งต่อไปหรือไม่ เป็นความกังวลใจว่านายกฯ และรัฐมนตรี จะติดเป็นนิสัยจากเมื่อครั้งที่มีมาตรา 44 ในมือ แต่เวลานี้ไม่มีอำนาจมาตรา 44 แล้ว ดังนั้น ต่อไปต้องใช้อำนาจให้รอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดการใช้พ.ร.ก.ที่คิดเป็นยาวิเศษ ผมจึงไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดฉบับนี้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการยุติการออกกฎหมายที่มักง่ายเสียที และยืนยันว่าไม่ให้คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจออกพ.ร.ก.พร่ำเพรื่อจนกลายเป็นมาตรา 44 จำแลง” นายปิยบุตร กล่าว

จากนั้น ที่ประชุมมีมติอนุมัติพระราชกำหนดฯดังกล่าว ด้วยคะแนนเห็นด้วย 244 ไม่เห็นด้วย 73 งดออกเสียง 148 และไม่ลงคะแนน 1 เสียง