“ค่าแรงขั้นต่ำ” รอถกนัดสุดท้าย 6 ธ.ค.นี้ บอร์ดเผยตัวใหม่ 5-6 บาท เฉลี่ยทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่กระทรวงแรงงาน มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 20 ที่มี นายสุทธิ สุโกศลปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน มีวาระการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2562 ซึ่งการหารือดังกล่าวใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง แต่ในที่สุดที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปตัวเลขอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และนัดหมายประชุมอีกครั้งในวันที่ 6 ธันวาคมนี้

นายสุทธิ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยใช้กรอบขีดความสามารถในการจ่าย อัตราค่าครองชีพมาเป็นสูตรในการคำนวนค่าจ้าง

“วันนี้มีการอภิปรายความเห็นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสภาวะเศรษฐกิจที่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งฝั่งนายจ้าง ลูกจ้าง ได้มีการพูดคุยกันอย่างสมานฉันท์ บรรยากาศที่เป็นไตรภาคี” นายสุทธิ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมขอเวลาไม่เกินปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนธันวาคม ในการพิจารณาตัวเลขอีกครั้งหนึ่ง โดยการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ เพื่อทำการชี้แจงการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นตามขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติเนื่องจากการพัฒนาประเทศนั้น ต้องดูแลทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นการพิจารณาอย่างรอบคอบ

นายสุทธิ กล่าวอีกว่า การพิจารณาในครั้งนี้ได้มีการนำตัวเลขของคณะอนุกรรมการจังหวัด คณะอนุกรรรมการวิชาการและกลั่นกรองมาพิจารณา นำมาหารือกันอย่างละเอียดรอบคอบ และจากการหารือมีบางตัวเลขเท่ากันทั้งประเทศ

“ก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงานได้มีการสำรวจค่าใช้จ่ายทั่วประเทศ ทั้งค่าใช้จ่ายตามอัตภาพ ค่าใช้จ่ายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งพบว่ามีตัวเลขที่เท่ากัน และไม่เท่ากัน ทั้งนี้ทุกฝ่ายมองว่าถ้าจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศชาติ” นายสุทธิ กล่าว

ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงกรณีการชะลอการปรับขั้นต่ำที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเศรษกิจโลกที่ชะลอตัว นายสุทธิ กล่าวว่า มีผลแน่นอน เพราะการปรับขึ้นค่าจ้างมีผลระทบต่อนายจ้าง ผู้ประกอบการ นำเข้าส่ง ออก และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งคาดว่าการประชุมวันที่ 6 ธันวาคมนี้ จะเป็นนัดสุดท้าย และหลังจากนั้นจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รับทราบ และน่าจะเป็นของขวัญปีใหม่กับผู้ใช้แรงงาน

“อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รัฐบาล จำเป็นร่วมกันหามาตรการในการช่วยเหลือ เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งการควบคุมราคาสินค้า การจัดหางานกรณีถูกเลิกจ้าง การช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ” นายสุทธิ กล่าว

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ เปิดเผยว่า เบื้องตัวเลขที่มีการพูดคุยกันในวันนี้คือ ให้ปรับขึ้นเฉลี่ย 5-6 บาท โดยจังหวัดที่จะได้ปรับอัตราสูงได้แก่ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล สมุทปราการ ชลบุรี ภูเก็ต ส่วนจังหวัดที่เหลืออยู่ในอัตรา 5 เท่ากัน ซึ่งตรงนี้ทั้งนายจ้าง และลูกจ้างค่อนข้างพึ่งพอใจ แต่ก็ตามต้องมีการหารือกันอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้

ด้าน นายสมพร ขวัญเนตรประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-6 บาทต่อวัน ก็พอรับได้ เพราะถือว่าเป็นตัวเลขที่เท่ากันทั่วประเทศ และเป็นสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานเรียกร้อง แต่ถ้าถามว่าพอกินหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ายังไม่พอกิน

“พรรคการเมืองต่างๆ เคยหาเสียงสัญญาว่าจะเพิ่มค่าจ้างให้ถึง 425 บาท แต่วันนี้ยังไม่มีการพูดถึง และให้เพียง 5-6 บาท ก็ยังดี แต่ไม่พอกิน อย่างก็ตาม ที่บอร์ดค่าจ้างห่วงสถานการณ์เศรษฐกิจ ขออย่าห่วงมาก เพราะวันนี้ค่าครองชืพ ของแพงหมดแล้ว อย่างไรก็ต้องขึ้นค่าจ้าง” นายสมพร กล่าว
————