‘วิษณุ’ เผยในหลวงโปรดเกล้าฯ จัดขบวนราบใหญ่เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร 12 ธ.ค.

“วิษณุ” เผยในหลวงทรงโปรดเกล้าฯ จัดขบวนราบใหญ่เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร 12 ธันวาฯ พร้อมชวนประชาชนสวมเสื้อเหลืองเฝ้าฯรับเสด็จ

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยภายหลังการประชุม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธี ในวันเดียวกันนี้ได้มีการหารือว่าเมื่อได้มีการเลื่อนการจัดงานออกมาเป็นวันที่ 12 ธันวาคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการยืนยันกำหนดการและพิธีการเตรียมการเดิมคือ 1.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับขบวนพยุหยาตรายังคงใช้เรือจำนวน 52 ลำตามเดิม

โดยเรือพระที่นั่งจะคงใช้ 4 ลำใหญ่เช่นเดิม โดยเรือนำคือ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ ซึ่งเป็นพระมงคลที่นำขบวนทุกครั้งในประเทศไทย ลำที่ 2 คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลำที่ 3 คือ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นของสมเด็จพระบรมวงศ์ และลำที่ 4 คือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ เป็นเรือพระที่นั่งสำรอง นอกจากนั้งเป็นเรือดั้ง เรือแซง เรือรูปสัตว์และเรือมีชื่อต่างๆ ทั้งหมด 52 ลำ ซึ่งเรียกว่าขบวนพยุหยาตราใหญ่ นายวิษณุกล่าวว่า ทั้งนี้ ปัจจุบันเรือทั้งหมดนำเก็บรักษาไว้ที่อู่เมื่อใกล้เวลาก็จะนำออกมา โดยจะมีการซ้อมในวันที่ 4 ธันวาคม วันที่ 7 ธันวาคม และในวันที่ 9 ธันวาคม จะเป็นการซ้อมใหญ่แต่งกายเสมือนจริง

ซึ่งการซ้อมใหญ่วันที่ 9 ธันวาคมนั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงจากเวลาจริงซึ่งเป็นเวลาเสด็จในเวลา 15.30 น. เปลี่ยนเป็นเวลา 13.30 น. เพราะมีการคำนวณกระแสน้ำจะตรงกับกระแสน้ำในวันพระราชพิธีฯ จริง ซึ่งเรื่องของกระแสน้ำเป็นอีกสาเหตุที่ต้องเลื่อนจากวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมาด้วย โดยเป็นการซ้อมเฉพาะทางน้ำ ส่วนบนบกจะมีการซ้อมเฉพาะนายกรัฐมนตรี ประธานสภา โดยจะมีการซ้อมรับและส่งเสด็จในวันที่ 7 ธันวาคม ที่บริเวณท่าน้ำทั้งสองท่า นายวิษณุกล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 ในส่วนการจัดผู้รับเสด็จที่ยังไม่เกี่ยวกับประชาชน ในเฉพาะผู้มีตำแหน่งหน้าที่ ได้มีการเตรียมบริเวณสวนหลวงรัชกาลที่ 8 ที่เชิงสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี ซึ่งจะมีอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 ประดิษฐ์อยู่ สามารถบรรจุคนได้ 2,500 คน

โดยจะมีคณะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการ ฝ่ายนิติบัญญัติ ส.ส. ส.ว. ฝ่ายตุลาการ คณะทูตานุทูตฝ่ายต่างประเทศ ผู้แทนต่างประเทศ ส่วนที่สวนสันติชัยปราการ ถนนท่าพระอาทิตย์ บริเวณป้อมพระสุเมรุ จะเป็นที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งประธานองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. และก.ก.ต. “สำหรับจุดที่สำคัญที่สุดมีสองจุด จุดเริ่มต้นคือที่ท่าวาสุกรี และสุดปลายทางคือท่าราชวรดิฐ ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร ใช้เวลาเรือประมาณ 1.15 ชั่วโมง ซึ่งตรงนี้นายกรัฐมนตรี ประธานสภา ประธานศาลฎีกา ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผบ.ตร. จะรอเฝ้าส่งเสด็จที่ท่าวาสุกรี จากนั้นจะรีบขึ้นรถเพื่อมารอรับเสด็จที่ท่าราชวรดิฐ” นายวิษณุกล่าว และว่า ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีตึกใหญ่ 2 หลัง คือตัวอาคารที่เคยเป็นพระตำหนักเก่า จะเป็นที่รับบรรดานักธุรกิจและบุคคลสำคัญของภาคเอกชน ส่วนตึกศูนย์การเรียนรู้ ธปท. จะเป็นที่ของพระอนุวงศ์ พระราชวงศ์ในระดับเจ้านาย

โดยทั้งหมดจะไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ชนิดต่างคนต่างไป เพราะจะเกิดปัญหาการจราจร ดังนั้นทั้งหมดจะไปขึ้นรถที่จุดรวมพลตามที่นัดหมาย โดยมีรถตำรวจนำขบวนเช่นเดียวกันกับเวลากลับ เช่น ครม.จะต้องมาเริ่มต้นที่ทำเนียบรัฐบาล คณะทูตานุทูตทั้งหมดรวมพลที่กระทรวงการต่างประเทศ สมาชิกรัฐสภารวมพลที่อาคารรัฐสภาเกียกกาย พระราชวงศ์จะไปรวมกันที่โรงเรียนวชิราวุธ ซึ่งในวันดังกล่าวจะมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนแต่งกายด้วยเสื้อสีเหลือง ส่วนการเข้าเฝ้าฯรับและส่งเสด็จก็สามารถทำได้แม้กระทั่งเส้นทางถนนราชดำเนิน https://youtu.be/lJ1-6ZU-QeU

นายวิษณุกล่าวว่า ในการจัดพิธีวันที่ 12 ธันวาคม มีเรื่องใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งไม่ได้อยู่ในกำหนดเดิมของงานพระราชพิธีฯ บัดนี้ได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดจัดขบวนราบใหญ่เพิ่ม โดยของเดิมเมื่อขบวนเรือมาถึงท่าราชวรดิฐซึ่งมีพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยอยู่ตรงริมน้ำ เดิมเมื่อมาถึงบริเวณดังกล่าวก็จะเสด็จเข้าประทับที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย แล้วขึ้นรถยนต์พระที่นั่งเสด็จกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน แต่บัดนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม โดยเมื่อเรือมาถึงท่าราชวรดิฐก็จะเสด็จขึ้นที่พลับพลาก่อนเสด็จไปยังพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย เจ้านายบางพระองค์ อาทิ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา จะเสด็จเข้าพลับพลาเพื่อทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ ต่อจากนั้นก็จะมีขบวนที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ที่เรียกกันว่าขบวนราบใหญ่

ซึ่งมีลักษณะคล้ายขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคในช่วงที่ผ่านมา คือจะเสด็จออกจากพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย โดยประทับบนพระที่นั่งพุดตานทอง และเข้าขบวนแห่ โดยทหารกองทัพภาคที่ 1 จะนำขบวน มีคู่เคียงเหมือนริ้วขบวนพยุหยาตราเมื่อคราวที่แล้ว แต่มีขนาดย่อมเยาลงมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีและบุคคลอื่นจะไม่เข้าร่วมขบวน แต่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เข้าร่วมในขบวน สำหรับสมเด็จพระราชินีนั้น ตนยังไม่ทราบชัดเจนว่าจะร่วมขบวนนี้ด้วยหรือไม่ โดยขบวนจะยาตราออกจากท่าราชวรดิฐมาตามถนนมหาราชก่อนเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนหน้าพระลาน แล้วเลี้ยวขวาเข้าพระบรมมหาราชวัง ที่ประตูวิเศษไชยศรี แล้วเสด็จไปสู่พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ เพื่อจะเปลี่ยนฉลองพระองค์แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน โดยจะไม่มีการไปรับและส่งเสด็จในที่ดังกล่าว

โดยทั้งหมดจะส่งแค่ที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยเท่านั้น นายวิษณุกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เพื่อให้ขบวนพยุหยาตราในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่เริ่มขึ้นแล้วเมื่อหลายเดือนก่อนจบลงโดยสมบูรณ์ คือ มีทั้งขบวนพยุหยาตราทางชลมารคและสถลมารค ซึ่งประชาชนสามารถเข้าชมพระบารมีและรับเสด็จได้ทั้งสองฝั่งถนน ทั้งถนนหน้าพระลานและถนนราชดำเนิน ขณะที่กรุงเทพมหานครก็จะมีหน้าที่ตกแต่งประดับธงทิวและดอกไม้ต่างๆ ตลอดเส้นทางเสด็จ ส่วนการประชาสัมพันธ์คิดว่าเรียบร้อยกว่าที่เตรียมมา เพราะเดิมในวันที่ 8 ธันวาคม จะมีงานอุ่นไอรักฯ เมื่อไม่มีงานดังกล่าวแล้วการติดตั้งการถ่ายทอดสดต่างๆ รวมทั้งการใช้โดรนก็จะทำได้สะดวกมากขึ้น โดยจะมีการประชาสัมพันธ์ทั้งวิทยุโทรทัศน์ในภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งอาจมีภาษาต่างประเทศอื่นๆ ด้วยตามความสมควร

ซึ่งจุดที่การถ่ายทอดภาพและผู้สื่อข่าวจะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสวยงาม ที่ประชุมมีมติว่าจุดที่สวยงามที่สุดคือบริเวณป้อมพระสุเมรุ ซึ่งเป็นบริเวณโค้งน้ำ จึงสามารถมองเห็นเรือ 52 ลำได้อย่างชัดเจน และในการถ่ายทอดประชาสัมพันธ์พระราชพิธีฯ ในครั้งนี้ จะอนุญาตให้ใช้โดรนกว่า 10 ตัว ซึ่งเดิมจะไม่ได้นำมาใช้สำหรับการถ่ายทอดสด นายวิษณุกล่าวอีกว่า ในส่วนการรักษาความปลอดภัยนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่าทุกอย่างเรียบร้อย ซึ่งการปิดถนนต่างๆ จะใช้วิธีปิดให้ช้าและเปิดให้เร็ว แต่คงไม่มีปัญหาเพราะใช้วิธีรวมพลเป็นจุดๆ

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับในที่ประชุมถึงการเตรียมยาและการรักษาพยาบาล รวมทั้งอาหารและน้ำดื่ม ตลอดจนสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียง ขณะที่การประชาสัมพันธ์และการทำความเข้าใจให้ประชาชนรับทราบถึงการเฝ้าฯรับเสด็จ ยืนยันว่าสำหรับภาคเอกชนและประชาชนจุดสำคัญอันดับหนึ่งคือ โรงเรียน โรงพยาบาล วัด คอนโดมิเนียม อาคารชุด โรงแรม และร้านอาหารที่อยู่ริมน้ำ ซึ่งการเข้าออกอาจลำบากบ้างแต่ได้ขอความร่วมมือให้มีการอำนวยความสะดวกประชาชนในการใช้ห้องน้ำด้วย สำหรับจุดที่ประชาชนสามารถรับเสด็จและมีความสวยงามอีกจุดคือ บริเวณด้านขวาของสวนหลวงรัชกาลที่ 8 หรือเชิงสะพานพระราม 8 ซึ่งยาวไปถึงวัดคฤหบดี สามารถจุคนได้หลายพันถึงหลักหมื่นคน ส่วนที่เหลือสามารถกระจายไปตาม 6 วัดริมน้ำตามเส้นทางเสด็จฯ ได้แก่ วัดราชาธิวาส วัดเทวราชกุญชร วัดบวรมงคลหรือวัดลิงขบ วัดคฤหบดี วัดสามพระยา และวัดระฆังโฆสิตาราม

โดยเมื่อเรือผ่านวัดใดพระสงฆ์จะออกมาที่พลับพลาหน้าวัดพร้อมเจริญพระพุทธมนต์สวดชยันโต จามธรรมเนียมเมื่อเรือเสด็จผ่าน “เมื่อเสร็จพระราชพิธีทางชลมารคเรียบร้อย เรือทั้ง 52 ลำจะกลับสู่ที่เดิมไม่มีการจอดเรือให้ประชาชนถ่ายรูป ทั้งนี้ในพระราชพิธีวันที่ 12 ธันวาคม จะไม่มีการประกาศเป็นวันหยุดราชการ เพราะช่วงงานพระราชพิธีฯ จะเลยเวลาราชการไปแล้ว โดยขบวนเรือเริ่มในเวลา 15.30 น. มาถึงจุดท่าราชวรดิฐเวลาประมาณ 16.30 น. จากนั้นจึงเป็นขบวนราบใหญ่ ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 25 นาที ก็จะเลยเวลา 17.00 น. ไปแล้ว” นายวิษณุ กล่าว