3 สมาคโรงงานน้ำตาลทราย ชี้มติกอน.รับหีบอ้อยไฟไหม้ 50% เป็นไปได้ยาก แนะรัฐรับซื้อใบอ้อยทำเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เกาถูกที่หนุนตัดอ้อยสด

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) กล่าวถึงกรณีแนวทางแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ประจำฤดูการผลิตปี 2562/63 ของภาครัฐ โดยมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 50% ต่อวันว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงมีความกังวล เพราะในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดให้โรงงานน้ำตาลไม่มีสิทธิปฏิเสธรับอ้อยที่ชาวไร่จัดส่งให้แก่โรงงาน มิเช่นนั้นจะถูกลงโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท หากโรงงานรับอ้อยไฟไหม้ในปริมาณเกินกว่า 50% ต้องถูกปรับอีกตันละ 12 บาท ตามบทลงโทษที่กอน.กำหนดเพิ่มเติม แม้ว่าจะไม่ใช่ความผิดของฝ่ายโรงงานน้ำตาลและไม่ใช่หน้าที่ของโรงงานจะต้องรับผิดชอบแทนชาวไร่อ้อยก็ตาม

นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายมีความเห็นว่า การแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ยั่งยืน ควรส่งเสริมให้ชาวไร่เห็นความสำคัญจากการจัดเก็บอ้อยสด ที่จะช่วยเสริมรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าการส่งอ้อยไฟไหม้ ซึ่งต้องถูกหักเงิน 30 บาทต่อตันอ้อย โดยภาครัฐควรออกมาตรการส่งเสริมการนำใบอ้อยที่ยังไม่ถูกเผาหลังจัดเก็บผลผลิตไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นแรงจูงใจที่ดีในการจัดเก็บอ้อยสดส่งให้แก่โรงงานน้ำตาล

“ที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลได้รณรงค์ส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด หลายโรงงานมีการบริการตัดอ้อยให้แก่ชาวไร่คู่สัญญา แต่ยังทำได้เป็นจำนวนน้อย เพราะเครื่องจักรตัดอ้อยในประเทศมีจำนวนน้อยเนื่องจากราคาแพง ส่งผลให้ชาวไร่ยังเผาอ้อยแม้ต้องถูกลงโทษปรับตันละ 30 บาทก็ตาม เนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนแรงงานและแรงงานไม่ต้องการตัดอ้อยสดเพราะตัดยากจึงตัดได้ปริมาณน้อย ทำให้ได้รับค่าแรงน้อยตามไปด้วย”

นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า ปัญหาอ้อยไฟไหม้ โดยชาวไร่ยังเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยวต่อไปจะก่อให้เกิดปัญหาทั้งด้านมลพิษ กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยไม่สามารถควบคุมและจัดการเผาอ้อยอย่างถูกวิธี ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตคนในประเทศได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพของอ้อย เพราะทำให้เกิดการสูญเสียน้ำตาลในลำอ้อย และหากทิ้งอ้อยไฟไหม้ค้างไร้หรือส่งเข้าหีบนานเกินกว่า 24 ชั่วโมงจะกระทบต่อคุณภาพอ้อย กระทบถึงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน ทั้งการหีบสกัดน้ำตาล และการต้มเคี่ยวน้ำตาล ดังนั้น ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนทั้งชาวไร่และโรงงานในด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจัดหาเครื่องจักรตัดอ้อยให้มีจำนวนมากขึ้น และควรสนับสนุนการจัดการแปลงอ้อยให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักร เช่น การจัดระยะห่างของร่องอ้อย การรวมแปลงเล็กให้เป็นแปลงใหญ่ เพื่อสะดวกกับการทำงานของเครื่องจักร เป็นต้น