“ศิริกัญญา” ห่วงประชาชนอยู่ไม่ได้ หากรัฐบาลแก้เศรษฐกิจไม่เป็น

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อเศรษฐกิจหลังการประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีในไตรมาส 3 ของสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอยู่ที่ 2.4 % เมื่อวานนี้ว่า สภาพัฒน์เปิดเผยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2562 ว่า GDP เติบโตเพียงแค่ 2.4% และคาดการณ์ ปี 2562 ทั้งปีขยายตัว 2.6% ปรับลดจากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.7-3.2% (เงื่อนไขไตรมาส 4 ต้องขยายตัว 2.8%) แน่นอนว่ารัฐบาลยังคงยืนยันว่าเศรษฐกิจยังไม่ถดถอย (ตามนิยามคือจีดีพีหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน) แต่ในบางภาคเศรษฐกิจเราเริ่มเห็นสัญญาณการหดตัว ในฐานะประชาชนทั่วไปเรายังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจขยายตัว เพราะเศรษฐกิจรากหญ้าที่ซบเซามานานถูก กำลังถูกซ้ำเติมด้วยปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้า และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า เมื่อพิจารณาดูตัวเลขที่สำคัญดิฉันพบว่า

ภาคการส่งออกหดตัวติดกันเป็นไตรมาสที่ 2 และรุนแรงกว่าไตรมาสที่แล้ว โดยเฉพาะสินค้าส่งออกหลัก อย่างปิโตรเคมี ยานยนต์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ สินค้าเกษตรต่างๆ ส่งผลให้รายได้แรงงานรวมหดตัวมาเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โอทีโดนหั่น สัดส่วนแรงงานที่ทำงานล่วงเวลาหด 2 ไตรมาสติดแล้ว ไตรมาสนี้ลดอีก 7% แรงงานที่เคยเป็นกำลังซื้อหลักของเศรษฐกิจฐานรากในช่วงที่เศรษฐกิจฐานรากซบเซา กำลังถูกปัจจัยภายนอกมากระทบอย่างแรง

ถ้าเราดูตัวเลขภาคการผลิต นอกเหนือจากตัวเลขการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) ที่ลดลงไปต่ำสุดในรอบ 10 ปีแล้ว ในปีนี้ตั้งแต่ต้นปีโรงงานปิดกิจการไปแล้ว 1,989 แห่ง พุ่งขึ้นสูงในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ที่การส่งออกเริ่มหดตัว โดยถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวนโรงงานถูกจำหน่ายทะเบียน ก.พ.-ต.ค. 61 มี 1,109 แห่ง เทียบกับ ก.พ.-ต.ค. 61 1,856 แห่ง เพิ่มขึ้น 747 แห่ง หรือ 67.3% (ข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีย้อนไปถึงแค่ ก.พ. 61 จึงต้องเทียบถึงแค่ ก.พ. อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก

https://www.facebook.com/TheEnlightenerNews/posts/151258649551814?__tn__=K-R)

รายได้เกษตรเริ่มฟื้น แต่ยังโตกว่า 5 ปีที่แล้วนิดเดียว การฟื้นตัวยังกระจุกอยู่เพียงบางพื้นที่ เช่น ชาวนาที่ปลูกข้าวเจ้า ในขณะที่รายได้เกษตรกรที่ปลูกยาง ปาล์ม มัน กุ้ง ยังทรุดตัวต่อเนื่อง

ภาคก่อสร้างยังขยายตัวจากก่อสร้างภาครัฐ แต่ภาคอสังหาส่งสัญญาณฟุบยาวจากสต็อกบ้านและคอนโดล้น และมาตรการสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น รายได้แรงงานภาคก่อสร้างหด 1%

ภาคท่องเที่ยวเริ่มฟื้น ไตรมาสนี้นักท่องเที่ยวโต 7.2% เป็นผลจากเรือล่มภูเก็ตปีที่แล้วทำให้ฐานต่ำ แต่รายได้จากการท่องเที่ยวไม่โตเลย รายได้แรงงานในภาคท่องเที่ยว (โรงแรม + ขนส่ง + ค้าปลีก) ขยายตัวเพียง 1.1%

สิ่งที่ดูเหมือนจะพยุงตัวเลขทางเศรษฐกิจไว้ก็คือการบริโภคภาคเอกชนที่โตถึง 4.2% ซึ่งยังโตในเกณฑ์ดี แต่อัตราการขยายตัวชลอลงจากไตรมาสก่อนๆ 

ควร remark ไว้ด้วยว่าตัวเลขการขยายตัวภาคเอกชนที่ดูสูงเกิดจากการที่รวมเอาการใช้จ่ายของคนไทยในต่างประเทศเข้ามาด้วย 

ขณะที่การบริโภคในประเทศชะลอลงทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค อย่าง สบู่ ผงซักฟอก ยาสีฟัน ที่ใช้กันทุกชนชั้นทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงการซื้อรถยนต์ที่เป็นการบริโภคของคนมีเงินก็หดตัวในไตรมาสนี้ ถ้าเราตัดการใช้จ่ายในต่างประเทศออก นับเฉพาะการจับจ่ายใช้สอยในประเทศจะขยายตัวแค่ 3%

แสดงให้เห็นว่าการบริโภคในประเทศยังความเหลื่อมล้ำสูง มีแต่คนรวยเท่านั้นที่มีกำลังซื้อในต่างประเทศ ทำให้ตัวเลขไม่สะท้อนสภาพการบริโภคที่แท้จริง 

นอกจากนี้ น.ส.ศิริกัญญากล่าวอีกว่า ทุกท่านคงไม่ลืมนะคะว่ากลางเดือน ส.ค. รัฐบาลเพิ่ง Package กระตุ้นเศรษฐกิจ 4 มาตรการ 3.16 แสนล้าน ซึ่งควรจะเริ่มเห็นผลตั้งแต่เดือน ก.ย. ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของไตรมาส 3 แต่ตัวเลขที่ออกมาเห็นได้ชัดว่ามาตรการนำเงินออกมาละลายน้ำของรัฐบาลล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ก่อนหน้านี้ทั้งในการแถลงข่าวและอภิปรายในสภา ดิฉันและคุณธนาธรได้ย้ำไปแล้วหลายรอบว่าเศรษฐกิจกำลังวิกฤต รัฐบาลต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐเพื่อพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ โดยต้องเป็นมาตรการที่ใหญ่พอและสร้างผลกระทบสูง แต่ในตอนนี้กรอบวงเงินตามร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้ถูกอนุมัติไปแล้ว การจะแก้ไขหรือออก พ.ร.บ. งบประมาณเพิ่มเติมในช่วงเร็วๆ นี้คงทำได้ยาก

“ในภาวะที่เศรษฐกิจทรุดทั้งภายใน-ภายนอกแบบนี้ วิธีแก้ปัญหาอย่างเดียวที่ดิฉันคิดออกก็คือการเรียกความเชื่อมั่นด้วยการเปลี่ยนตัวหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล คุณประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจต้องแสดงความรับผิดชอบที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประเทศและประชาชนได้ แต่ภายใต้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ดูเหมือนการเรียกหาความรับผิดชอบจากผู้มีอำนาจจะเป็นไปได้ยาก”

อ่านรายงานฉบับเต็มของสภาพัฒน์ได้ที่ https://www.nesdb.go.th/main.php?filename=QGDP_report
#อยู่ไม่เป็น #วิกฤตเศรษฐกิจ #อนาคตใหม่