‘อลงกรณ์’ เร่งคณะทำงานหาสารชีวภัณฑ์ ให้เกษตรกรใช้ทดแทน สารเคมี 3 ชนิด

‘อลงกรณ์’ เร่งคณะทำงานหาสารชีวภัณฑ์ ให้เกษตรกรใช้ทดแทน สารเคมี 3 ชนิด

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก “อลงกรณ์ พลบุตร” ระบุว่า เรื่องสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชแทน 3 สารอันตราย

กรมวิชาการเกษตรรายงานต่อคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ว่ายังไม่มีสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชที่ได้รับการรับรองจากกรมฯ แม้แต่รายเดียว มีเพียงสารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชซึ่งขึ้นทะเบียนแล้ว 73 รายการ แสดงว่า แม้มีการแบน 3 สารเคมี แต่ก็จะใช้สารเคมีตัวอื่นที่แพงกว่าแทน 3 สาร ซึ่งอธิบายต่อสังคมยากมากว่าทำไมแบน 3 สารเคมี แต่ก็ใช้สารเคมีชนิดอื่นแทน

กระทรวงเกษตรฯ และทุกภาคส่วนจึงต้องเร่งหาสารชีวภัณฑ์มาทดแทนให้เร็วที่สุดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีสารทางเลือกที่ราคาไม่แพงและใช้น้อยรอบเพื่อลดต้นทุนการปลูกพืชของเกษตรกรทั่วประเทศโดยเฉพาะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและสุจภาพของเกษตรกรผู้ใช้และผู้บริโภคเป็นสำคัญตามเหตุผลของคณะกรรมการวัตถุอันตราย

เรื่องสารชีวภัณฑ์เป็นประเด็นอ่อนไหวมากมีบวกลบตลอด ผมไปดูมาที่สุพรรณบุรียังโดนวิจารณ์ซึ่งก็ชี้แจงไปแล้วจึงเข้าใจว่าอ่อนไหวมากแค่ไหนรวมทั้งมีการโยงไปถึงบริษัทผู้ผลิตกับตระกูลนักการเมืองใหญ่ในภาคอีสานเป็นประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งถ้าพูดอย่างแฟร์ คือ ถ้ามีอิทธิพลการเมืองเกี่ยวข้องจริงคงได้ขึ้นทะเบียนไปแล้ว เพราะทดสอบใช้มานานถึง 7 ปี และแม้ว่าวันนี้ จะขึ้นทะเบียนก็ต้องใช้เวลาทดสอบด้านพิษวิทยาและหลักเกณฑ์อื่นๆ ของกรมวิชาการเกษตรเป็นเวลานาน 1-3 ปี และคณะทำงานฯ ให้เปิดกว้างเต็มที่ในการขอขึ้นทะเบียนห้ามล็อคสเปคเป็นอันขาด

สำคัญที่สุดคือการจัดการเรื่องนี้ต้องโปร่งใสไร้ผลประโยชน์ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์

ใครก็ตามคิดแสวงหาประโยชน์จากความเดือนร้อนของเกษตรกรไม่ได้โดยเด็ดขาด

อย่างไรก็ตามผมถามนักวิจัยอิสระและลุงสุรินทร์ว่าสารชีวภัณฑ์ที่บรรจุในขวดใช้จุลินทรีย์อะไร เขาบอกว่าจุลินทรีย์อนุพันธ์ ผมจึงบอกชาวไร่กับสื่อมวลชนที่ไปด้วยเมื่อมีการเอาขวดบรรจุสารชีวภัณฑ์มาให้ดูที่สุพรรณบุรี ว่า สารชีวภัณฑ์นี้ขึ้นทะเบียนไม่ได้เพราะใช้จุลินทรีย์อนุพันธ์และห้ามโฆษณาถ้าไม่ได้ขึ้นทะเบียน แต่ถ้าเป็นชีวภัณฑ์ที่ติดป้ายว่ากำจัดศัตรูพืชและผ่านการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรก็ไม่มีปัญหาในการขายหรือโฆษณ ส่วนการทดลองใช้มา 7 ปี ของลุงสุรินทร์ชาวไร่อ้อยก็เป็นเรื่องดีแต่ต้องเข้าใจว่าถ้าจะทำให้ถูกต้องก็ต้องไปขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรต่อไป

หลังกลับจากสุพรรณบุรีก็มีสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยนำปราชญ์ชาวบ้านมาพบผมและเอาสารชีวภัณฑ์จุลินทรีย์เชิงเดี่ยวเรียกว่าจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงมาให้ดูพร้อมรายงานการทดสอบซึ่งเป็นจุลินทรีย์เชิงเดี่ยวประเภทเดียวกับที่กรมพัฒนาที่ดินรายงานว่ากำลังวิจัยแต่ต้องใช้เวลา3ปีจึงจะสรุปผลได้

นอกจากเรื่องสารทางเลือกทดแทน 3 สารอันตราย ทางคณะทำงานกำหนดแนวทางเบื้องต้นในการช่วยเหลือเกษตรกรหลายมาตรการเช่น การช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิต การใข้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีทันสมัยมาจัดการแปลงเพาะปลูก การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น และจะสรุปเป็นมาตรการในการประชุมครั้งหน้าวันที่ 22 พ.ย.

ก็ต้องช่วยกันทุกฝ่ายนะครับเพราะคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเมื่อ 22 ตุลาคม แบน 3 สารตั้งแต่1ธันวาคมนี้โดยทันที

 

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=585392192205069&id=100022028804347