ผู้กองมาร์ค” ติง “บิ๊กตู่” ปฏิบัติสองมาตรฐานหรือไม่กรณี ปารีณา ครอบครองที่ดิน 1,706 ไร่

16 พ.ย. 2562 / ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากกรณีที่ สำนักงานการปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) และกรมป่าไม้ได้เลื่อนการตรวจสอบที่ดิน หมู่ 6 อ.รางบัว ต.จอมบึง จ.ราชบุรี ของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.จังหวัดราชบุรี จำนวน 1,706 ไร่ ทำให้เกิดคำถามของสังคมตามมาว่า เหตุใดถึงต้องมีการเลื่อนการทำรังวัด เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมต้องการคำตอบ เพื่อที่จะได้สร้างมาตรฐานให้กับการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐสำหรับพื้นที่อื่นๆ เพราะหากที่ดินผืนนี้เป็นที่ ส.ป.ก. 4-01 จริง ตามหลักเกณฑ์แล้วที่ดิน ส.ป.ก. คือที่เอกสารสิทธิที่ให้เพื่อใช้ทำการเกษตรกรรมได้เพียงอย่างเดียว ห้ามทำประโยชน์อย่างอื่น ห้ามซื้อขาย แต่สามารถโอนตกทอดทางมรดกบุคคลครอบครัวได้ และผู้ครอบครองต้องต้องทำประโยชน์ทางการเกษตรและมีฐานะยากจน ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเป็นเกษตรกร พ.ศ. 2535 และมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2555 ได้กำหนดปรับปรุงเกี่ยวกับอัตรารายได้ของผู้ยากจนคือ “ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,00 บาท/คน/ปี” ซึ่งในกรณีนี้ก็ต้องมาดูว่า น.ส.ปารีณา เข้าข่าย ใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้เพื่อการเกษตรอย่างเดียว ได้ซื้อขายจากบุคคลอื่น และมีฐานะยากจนหรือไม่อย่างไร เนื่องจากหากผิดข้อกำหนดข้อใดข้อหนึ่งก็ถือว่า การถือครอบครองที่ดินนั้นไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. และหากเป็นที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) ก็ไม่ถือเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน และไม่ถือว่าเป็นการครอบครองพื้นที่นี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะ ภ.บ.ท.5 เป็นแบบแสดงรายการที่ดิน ที่ประชาชนที่เข้าไปทำกินอยู่ในท้องที่นั้นๆ จะต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หาก น.ส.ปารีณา แจ้งว่าเสียภาษีบำรุงท้องที่มากว่า 10 ปี แต่ตามหลักการก็ไม่น่าจะมีคุณสมบัติครอบครอง เพราะกรมการปกครองได้มีหนังสือแจ้งเวียนตั้งแต่ปี 2551 ว่า ที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินของรัฐ ไม่สามารถแจ้งการเสียภาษีบำรุงท้องที่ได้

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ฯ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และไม่อยากให้มีการปฎิบัติหลายมาตรฐาน ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีควรเร่งให้ความสำคัญโดยสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำงานอย่างเร่งด่วน รอบครอบ รัดกุม และยุติธรรม ซึ่งจากการดูพื้นที่ไร่ดังกล่าวจากภาพถ่ายทางอากาศ จะเห็นว่ามีพื้นที่สีเขียวเข้ม ดังนั้นภาครัฐควรเร่งดำเนินการตรวจสอบว่าได้รุกล้ำพื้นที่กรมป่าไม้หรือไม่ และควรตรวจสอบว่าน.ส.ปารีณาได้พื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่เมื่อใด เพราะตามระเบียบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้องทำเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ดังนั้น ส.ป.ก. ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องควรเร่งตรวจสอบว่าเหตุใด น.ส.ปารีณาถึงได้สิทธิ์ครอบครองที่ดินดังกล่าวจำนวน 58 แปลง เนื้อที่ 1,706 ไร่เศษ และเข้าข่ายเกินอัตราการถือครอบครองหรือไม่ เพราะคนจนบุกรุกพื้นที่ป่า หรือพื้นที่อุทยานเพียงเล็กน้อยก็ผิด และต้องติดคุกแล้ว ดังนั้นรัฐควรเร่งหาบทสรุปเพราะหากประเทศไทยมีพื้นที่ป่าสีเขียวมากขึ้น สัตว์ป่ามีที่อยู่อาศัยมากขึ้น รักษาระบบนิเวศ อากาศก็จะดีขึ้นและช่วยลดปัญหาฝุ่นพิษขนาดต่าง ๆ ได้อีกด้วย