‘ณัฏฐพล’ โชว์ผลงานการศึกษา เน้นรบ.ให้ความสำคัญเด็กปฐมวัย หารือ ‘ยูเนสโก’ ดึงเด็กตกหล่นเข้าสู่ระบบ

‘ณัฏฐพล’ โชว์ผลงานการศึกษา เน้นรบ.ให้ความสำคัญเด็กปฐมวัย หารือ ‘ยูเนสโก’ ดึงเด็กตกหล่นเข้าสู่ระบบ

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 40 (40th Session of the General Conference) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 27 พฤศจิกายน 2562 ณ องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยมีผู้แทนระดับสูงจากรัฐสมาชิกต่าง ๆ ร่วมกล่าวถ้อยแถลงด้านนโยบายและการดำเนินการของประเทศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบยูเนสโก

นายณัฏฐพล ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมช่วง General Policy Debate เกี่ยวกับบทบาทที่โดดเด่นของประเทศไทยในกรอบงานของยูเนสโก โดยเริ่มตั้งแต่การเป็นเจ้าภาพสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ การสนับสนุนงานทุกสาขาของยูเนสโก และปัจจุบันได้ร่วมผลักดันการดำเนินการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะการส่งเสริมความเท่าเทียมด้านการศึกษา และการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพตามเป้าหมายที่ 4 ซึ่งรัฐบาลไทยได้มีนโยบายพัฒนาคนสู่ศตวรรษที่ 21 หรือยุคดิจิทัล พร้อมให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย และการเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กในระดับอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ ด้วยการใช้สื่อการเรียนการสอนดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาคุณภาพของครูแบบองค์รวม ให้ครูได้รับการอบรมการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ รวมทั้งการผลักดันการเชื่อมโยงการศึกษากับการทำงาน ตลอดจนเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเข้ามาสนับสนุน การพัฒนาหลักสูตรกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา เพื่อให้เด็กได้เรียนทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติในสถานที่ทำงานจริง อันจะทำให้เกิดความรู้ความสามารถเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน

สำหรับปัญหาเด็กตกหล่นและการออกจากโรงเรียนกลางคันนั้น ยังคงเป็นปัญหาที่ท้าทายของภูมิภาคอาเซียน และในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียนปี 2019 จึงให้ความสำคัญกับปัญหานี้ พร้อมร่วมมือกับประเทศสมาชิกในอาเซียน ยูเนสโก และยูนิเซฟ จัดการประชุมระดับภูมิภาค เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ยังได้เห็นชอบปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย

ส่วนงานในสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ประเทศไทยก็ได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิด กับองค์กรเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของโลก (Global Young Academy) เพื่อส่งเสริมให้มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงวิชาการว่าด้วยจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Conference on the Ethics of Science & Technology and Sustainable Development) ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม ครั้งที่ 26 (The 26th Session of the International Bioethics Committee of UNESCO: IBC) และการประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 11 (The 11th Session of the World Commission on the Ethics of Scientific Knowledge and Technology – COMEST) เพื่อให้เกิดความตระหนักเรื่องผลกระทบของความเจริญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการประชุมที่มีผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ประเทศไทยได้สนับสนุนบทบาทยูเนสโกในการส่งเสริมงานสาขาวัฒนธรรม ในลักษณะข้ามสาขา โดยให้ความสำคัญกับการผลักดันการเสนอมรดกทางวัฒนธรรม ที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ให้อยู่ในรายการของยูเนสโก เพื่อการปกป้องและอนุรักษ์ และเพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่มีความตระหนัก ในการปกป้องรักษาภูมิปัญญา ประเพณีทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ในขณะเดียวกันก็ให้ความเคารพต่อวัฒนธรรมที่หลากหลายด้วย