“สมคิด” ยันเศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤติ หารือก.คลังเตรียมมาตรการรับมือหากจำเป็น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มีนักธุรกิจเข้ามาแสดงเจตจำนง ในความต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งหมด 2 ราย ได้แก่ 1.ไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็น 1 ในยักษ์ใหญ่ 5 ด้าน 2.อเมซอน จึงสะท้อนให้เห็นถึงนิมิตหมายที่ดี เนื่องจากในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกไม่ได้ดีเท่าที่ควร แต่นักลงทุนต่างชาติยังต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอยู่ ขณะเดียวกันนั้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกไม่ได้ดีเท่าที่ควนนั้น จึงได้มีการหารือกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการประเมินสถานการณ์ต่างๆ ในทุกด้าน ว่าจะเป็นอย่างไร เพื่อเตรียมตัวในส่วนของมาตรการที่จะรองรับ หากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว

“ตามที่คาดการณ์กันไว้ว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ได้เตรียมที่จะไว้แล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ที่รับรู้แล้วก็คือ ขณะนี้แรงส่ง (โมเมนตัม) ในภาคการบริโภคเริ่มดีขึ้น ในเดือน ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอำนาจการซื้อเริ่มมีมากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างชิมช้อปใช้เริ่มได้ผล แต่มาออกในเดือนตุลาคม ไม่ได้ออกในช่วงไตรมาส 3 จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีประการหนึ่ง”นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวว่า สำหรับภาคการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ได้ดีเท่าที่ควร ทำให้คงจะตั้งความหวังกับภาคการส่งออกได้ยาก ทำให้กระทรวงการคลัง จะต้องประเมินและติดตามสถานการณ์ว่า ควรมีมาตรการอะไรที่จำเป็นจะต้องออกมาหรือไม่ ในส่วนของเรื่องภาษี เป็นเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ จัทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้ดูแลเรื่องการจัดเก็บภาษีให้เข้าเป้า แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องหาวิธี ที่จะไม่ทำให้บันทอนการบริโภคของประชาชนด้วย

นายสมคิดกล่าวว่า กรณีการนำเงินประกันสังคมมาปล่อยให้กู้ เพื่อการลงทุนและใช้จ่ายต่างๆ นั้น เบื้องต้นคาดว่าเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วในอดีต ว่าเงินเหล่านี้จะสามารถนำมาใช้ในด้านใดได้บ้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษาว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป แต่มองว่าต้องคิดถึงความปลอดภัยให้มากที่สุด ไม่ใช่ว่ามีแค่ผลตอบแทนเท่านั้น เนื่องจากเงินดังกล่าวเป็นเงินของส่วนร่วม

นายสมคิดกล่าวว่า รวมถึงยังได้เน้นย้ำในการนำเสนอข่าว ต้องมีความระมัดระวัง เพราะเป็นช่วงของความเปราะบาง และเป็นเรื่องผลกระทบความเชื่อมั่นของคน โดยหากความเชื่อมั่นไม่มี ก็จะไม่เกิดการลงทุนใหม่ขึ้น การบริโภคก็จะไม่มีตามมาเช่นเดียวกัน ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้ย่ำแย่ถึงขนาดนั้น แม้จะได้รับผลกระทบจากปัญหาการค้าโลกบ้าง แต่ก็ต้องร่วมกันฟันฝ่าไปให้ได้ เพราะที่อื่นยังมีแย่มากกว่า ทำให้บางข่าวที่ออกมาไม่เป็นความจริง หรือยังมีความไม่ชอบมาพากลอยู่ ก็อย่าพึ่งรีบด่วนสรุป

“เรื่องการที่สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้บอกว่าประเทศไทยกำลังมีความเสี่ยงนั้น เป็นการทำแบบสำรวจจากนักธุรกิจไทย ที่บอกว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยมีความเสี่ยงในด้านใดบ้าง จึงได้ผลสรุปออกมาว่า เป็นความเสี่ยงในการทำธุรกิจในไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.เศรษฐกิจฟองสบู่ 2.ความล้มเหลวของรัฐบาล 3.การโจมตีทางไซเบอร์ 4.ภัยพิบัติทางธรรมชาติและโดยมนุษย์ และ 5.ความไม่มั่นคงทางสังคม ซึ่งทั้งหมดเป็นความกังวลในอีก 10 ปีข้างหน้า ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงในการเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่”นายสมคิดกล่าว

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับงบประมาณปี 2563 จะเริ่มใช้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทำให้การพิจารณาในเรื่องของการออกมาตรการที่มีความจำเป็น ในการดูแลเศรษฐกิจ ได้ดำเนินการและเตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยยังมีงบประมาณเพียงพอในการใช้ แม้งบปี2563 ยังไม่สามารถใช้ได้ แต่ก็ยังสามารถใช้งบปี 2562 ได้ตามเดิม ซึ่งการออกมาตรการแต่ละด้าน ได้คำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณอยู่แล้ว รวมถึงคงจะไม่เป็นในลักษณะของการรอให้งบปี 2563 ออกมาก่อน จึงจะเริ่มดำเนินการต่างๆ ประเด็นคือ กระทรวงฯได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีการประเมินและพิจารณาการใช้มาตรการที่จำเป็นและเหมาะสม ซึ่งจะดำเนินการจากนี้ต่อไป