“โฆษก รบ.” เผย “นายก” แจงปมถวายสัตย์ฯ-พ.ร.บ.งบปี 63 ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

“โฆษก รบ.” เผย “นายก” แจงปมถวายสัตย์ฯ-พ.ร.บ.งบปี 63 ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว พร้อมส่งตัวแทนร่วมประชุม เป็นสิทธิกระทำได้

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) ชึ้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 นั้น นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนี้ 1.ประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณ 1.1มาตรา 129 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติว่า “การกระทำกิจการ การสอบหาข้อเท็จจริงหรือการศึกษาตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของสภา” ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งในเรื่องพิจารณาที่ ต. 37/2562 วันที่ 11 กันยายน 2562 ไม่รับคำร้องของนายภาณุพงษ์ ชูรักษ์ ซึ่งเสนอโดยผู้ตรวจการแผ่นดินไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยมีเหตุผลสรุปได้ว่า “การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด” และมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการ ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 129 ไม่อาจตรวจสอบในเรื่องเดียวกันนี้ 2.ประเด็นคณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพราะยังไม่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณให้ถูกต้องครบถ้วน 2.1 คณะรัฐมนตรีได้ถวายสัตย์ปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์

นางนฤมล กล่าวว่า ทั้งนี้ ตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แล้ว ดังที่ได้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 18 กันยายน 2562 ไปแล้ว และข้าพเจ้าขอถือเอาคำชี้แจงนั้นเป็นคำชี้แจงครั้งนี้โดยจะไม่ขอตอบคำถามอื่นใดเพิ่มเติมใน ประเด็นนี้อีก 2.2 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่คณะรัฐมนตรีเสนอในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 นั้น สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการในวาระที่ 1 โดยมติเอกฉันท์ในวันที่ 19 ตุลาคม 2562 และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นพิจารณาแล้วและขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวกำลังดำเนินงานในส่วนของตนอยู่จึงถือได้ว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติโดยถูกต้องครบถ้วน ไม่มีเหตุที่คณะกรรมาธิการคณะใดหรือสภาผู้แทนราษฎรจะมีความเห็นเป็นอื่นอันจะทำให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องล่าช้าหรือสิ้นสุดลง เว้นแต่จะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ 2.3 คณะรัฐมนตรีชุดเดียวกันนี้ได้เคยเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อรัฐสภาจนประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว 2 ฉบับ และประกาศใช้พระราชกำหนดแล้ว 2 ฉบับ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายบริหารตามรัฐธรรมนูญและในส่วนที่สัมพันธ์กับรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลต่างประเทศ ตลอดจนสถาบันพระมหากษัตริย์มาแล้วหลายเรื่องโดยไม่เคยมีผู้ใดคัดค้านหรือทักท้วงอำนาจหรือสถานะความเป็นคณะรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

นางนฤมล กล่าวอีกว่า 3.ประเด็นการตรวจสอบทุจริต คณะกรรมาธิการคณะนี้ตั้งขึ้นตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 90 (22) ซึ่งระบุขอบเขตหน้าที่และอำนาจว่า “คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ” ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าประเด็นเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่จะมีการสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการมิได้แจ้งว่ามีประเด็นใดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบอันอยู่ในขอบเขต หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการชุดนี้

“ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (พลเอก ขัยชาญ ช้างมงคล) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังรับทราบประเด็น แถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวแทน”

นางนฤมล กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการชี้แจงเรื่องดังกล่าวตามที่คณะกรรมาธิการฯ ได้แจ้งมาครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว และได้ส่งผู้แทนมาเข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ จึงขอให้คณะกรรมาธิการฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 90 (22) ซึ่งระบุขอบเขตหน้าที่และอำนาจว่า “มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ” ดังนั้น หากมีประเด็นใดที่ต้องการทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และอยู่ในขอบเขตหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะให้ความร่วมมือและชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ ต่อไป