ศาลจับมือตม.เชื่อมข้อมูลตรวจสอบผู้ต้องหาห้ามออกนอกประเทศ แบบเรียลไทม์ สกัดให้ทันเวลา

ศาลเอ็มโอยูตม.เชื่อมระบบตรวจสอบกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลย ห้ามออกนอกประเทศ แบบเรียลไทม์ หากขัดคำสั่งศาลสกัดทันเวลา ระบุแต่ละปีสถิติเฉลี่ยศาลมีคำสั่งห้ามออกนอกประเทศ 6,000 คดี ศาลตั้งเป้าเชื่อมข้อมูลราชทัณฑ์ตรวจสอบการรับ-ปล่อยผู้ต้องขังอีก

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมสำนักงานศาลยุติธรรม ชั้น 12 ถ.รัชดาภิเษก โดย นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และ พล.ต.ต.พรชัย ขันตี รอง ผบช.สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) รักษาราชการแทน ผบช.สตม. ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับคำสั่งห้ามออกนอกราชอาณาจักรโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของทั้งสองหน่วยงานให้รวดเร็ว และถูกต้องยิ่งขึ้น

นายสราวุธ กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานครั้งนี้ว่า สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงาน ตม.จะนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ ในการส่งและรับข้อมูลคำสั่งศาลที่ห้ามผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งได้รับการปล่อยชั่วคราวเดินทางออกนอกราชอาณาจักร รวมถึงคำสั่งศาลที่อนุญาตให้ออกนอกราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราว และการเพิกถอนคำสั่งห้ามออกนอกราชอาณาจักร โดยจะเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวจากระบบฐานข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรม ผ่านระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network : GIN) ไปยังระบบฐานข้อมูลไบโอแมทริกซ์(BIOMETRICS) ของสำนักงานตม.ที่มีการจัดเก็บและตรวจสอบข้อมูลตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ประจำอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองต่างๆ มีรายชื่อบุคคลที่ต้องห้ามออกนอกราชอาณาจักร รวมทั้งบุคคลที่ได้รับอนุญาตชั่วคราวให้ออกนอกราชอาณาจักร หรือศาลได้เพิกถอนคำสั่งห้ามออกนอกราชอาณาจักรแล้ว แบบ real-time ทันทีที่เจ้าหน้าที่ของศาลส่งข้อมูลคำสั่งศาลผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลนี้ อย่างไรก็ดีสำหรับการออกคำสั่งศาลเรื่องห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรที่ศาลส่งให้ ตม.ทราบนั้นจากสถิติที่บันทึกแต่ละปีมีประมาณ 6,000 คดี ซึ่งต่อไปนี้หากผู้ต้องหา/จำเลยรายใดทำผิดเงื่อนไขในการเดินทางออกนอกประเทศก็จะมีระบบบันทึกเชื่อมข้อมูลกัน และจะต้องดำเนินกระบวนการทางศาลต่อไปคือการพิจารณาเพิกถอนประกัน ทั้งนี้สำหรับการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ศาลก็ยังตั้งเป้าพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมราชทัณฑ์เต็มรูปแบบในการตรวจสอบความถูกต้องการรับ-ปล่อยตัวผู้ต้องขังด้วย

“ข้อมูลแบบเรียลไทม์ จะทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อใช้ตรวจสอบบุคคลดังกล่าวโดยไม่ก่อให้เกิดข้อขัดข้องในการเดินทาง และสามารถสกัดกั้นการเดินทางหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรของผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยศาลได้ทันที” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวและว่า การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการอำนวยความยุติธรรมและเป็นการให้บริการแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม ทั้งยังส่งเสริมให้การทำงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และในอนาคตสำนักงานศาลยุติธรรมและสำนักงาน ตม.จะร่วมกันศึกษาและพัฒนาปรับปรุงระบบ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลด้านอื่นๆ ต่อไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันมากขึ้น

พล.ต.ต.พรชัย ขันตีรอง ผบช.สตม. กล่าวว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ก็มีความยินดี ที่จะให้ความร่วมมือแก่สำนักงานศาลยุติธรรมและหน่วยราชการอื่นในการเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย 4.0 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ให้หน่วยราชการพยายามเชื่อมโยงระบบสารสนเทศที่มีอยู่ให้เข้ากันเพื่อความรวดเร็ว ประหยัด ชัดเจน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกคน ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาจากเดิมที่ใช้การบันทึกลงเพียงกระดาษ และกว่าจะส่งเอกสารก็ใช้เวลา 2-3 วัน