สหกรณ์เพชรบูรณ์เร่งรัฐบาลอนุมัติเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. โอดขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน นายประดิษฐ์ ทับทิมดี ที่ปรึกษาสหกรณ์การเกษตรเพชรบูรณ์จำกัด อ.เมืองเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้สหกรณ์ขาดสภาพคล่อง ที่จะรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตกรชาวนา ตามโครงการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกในปีการผลิต 2562/63 เนื่องจากทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาเพชรบูรณ์แจ้งว่า ยังไม่สามารถปล่อยเงินกู้ให้แก้สหกรณ์ได้ สืบเนื่องจากทางรัฐบาลยังไม่อนุมัติจ่ายเงินให้แก่ ธ.ก.ส. จึงทำให้สหกรณ์ซึ่งปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอจะรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรชาวนา ซึ่งเริ่มทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อจะนำออกสู่ตลาดแล้ว

“เวลานี้สหกรณ์มีเงินหมุนเวียนรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรเพียงราว 30 ล้านบาทเศษ ในขณะที่ผลผลิตข้าวเปลือกในฤดูกาลนี้ นอกจากผลผลิตตามปกติแล้ว ยังมีนาแปลงใหญ่ที่ ต.ดงมูลเหล็ก ซึ่งรัฐบาลได้ส่งเสริมไว้ ขณะนี้เกษตรกรชาวนาอยู่ระหว่างกำลังเร่งเก็บเกี่ยว โดยจะมีผลผลิตข้าวหอมมะลิออกสู่ตลาดอีกราว 3,000 ตัน ฉะนั้นหากสหกรณ์ไม่มีเงินจะรับซื้อก็จะทำให้ชาวนาได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่มีที่ขาย ทางสหกรณ์จึงทำหนังสือไปยังรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องผ่านทาง ส.ส.ในพื้นที่ เพื่อเร่งรัดให้รัฐบาลอนุมัติให้แก่ ธ.ก.ส.ปล่อยเงินกู้ให้แก่สหกรณ์โดยด่วนก่อนวันที่ 20 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ เพราะชาวนาเพชรบูรณ์จะเร่งเก็บเกี่ยวให้เสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายน หากเก็บเกี่ยวหลังจากนั้น ข้าวเปลือกจะขาดคุณภาพและราคาตก” นายประดิษฐ์กล่าว

นายประดิษฐ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทางพ่อค้าโรงสีและลานข้าวเปลือกภาคเอกชนในพื้นที่ อ.เมืองและอำเภออื่นๆ ต่างก็ขาดสภาพคล่องเช่นเดียวกัน เนื่องจากธนาคารต่างๆ ไม่ปล่อยเงินกู้ ทำให้ชาวนาไม่รู้จะไปขายข้าวเปลือกให้กับใคร สำหรับโครงการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกในปีการผลิต 2561/62 ที่ผ่านมา ทางสหกรณ์ได้รับเงินกู้จากทาง ธ.ก.ส.สาขาเพชรบูรณ์วงเงิน 200 ล้านบาท เพื่อซื้อข้าวเปลือกหอมจังหวัดจากเกษตรกรชาวนาได้ราว 13,000 ตัน หลังจากนั้นทำการแปรรูปและสีขาย จนได้เงินมา 82 ล้านบาท จากนั้นส่งชำระคืนให้แก่ ธ.ก.ส. ส่วนที่เหลือยังค้างชำระ เนื่องจากยังไม่ได้ขายข้าว

ข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติทำโครงการประกันรายได้ข้าว ตามที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้เห็นชอบโครงการประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ประกันรายได้ที่ตันละ 10,000 บาท ข้าวหอมมะลิ ประกันรายได้ที่ตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมนอกพื้นที่ ประกันรายได้ที่ตันละ 14,000 บาท ข้าวหอมปทุมฯ ประกันรายได้ที่ตันละ 11,000 บาท และข้าวเหนียว ประกันรายได้ที่ตันละ 12,000 บาท กำหนดค่าความชื้นไม่เกิน 15% ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ ประเมินใช้งบประมาณรวม 21,495 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2562 ถึงตุลาคม 2563